จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข่าว: ไทยเป็นเจ้าภาพหลัก การประชุมท่องเที่ยวอาเซียนแบรนด์

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.ryt9.com/s/prg/1005787
นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในนามประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The ASEAN Tourism Task Force Meetings ระหว่างวันที่ 10 - 14 ตุลาคม 2553 และเป็นประธานการแถลงข่าวผลการประชุมคณะทำงานการท่องเที่ยวอาเซียน ณ ห้องบัวสวรรค์ โรงแรมพูลแมน พัทยา ไอศวรรย์ (Pullman Pattaya Aisawan Hotel) พัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันพุธที่ 13 ตุลาคม 2553
นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ กล่าวว่า ประเทศกลุ่มอาเซียน หรือที่เรียกว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN : Association of South East Asian Nations) เป็นองค์การทางภูมิศาสตร์การเมืองและองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพ/ความมั่นคงในพื้นที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ มีประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนร์ม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานการท่องเที่ยวอาเซียน ระหว่างวันที่ 10 - 14 ตุลาคม 2553 โดยสามารถสรุปสาระการประชุม ดังนี้
1) กำหนดให้มีการบริการท่องเที่ยว และมีการแข่งขันในเชิงคุณภาพ เพื่อให้อาเซียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับโลก รวมถึงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในนามของอาเซียน (ASEAN Brand) โดยภายในปี 2011 (พ.ศ. 2554) ที่ประชุมเห็นชอบให้เปลี่ยน Theme จากVisit ASEAN เป็น Visit Southeast Asia, Feel the Warmth ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากกว่าคำว่า ASEAN
2) ประเทศในฐานะประธานคณะทำงานมาตรฐานการท่องเที่ยวของอาเซียน ได้ริเริ่มกำหนดมาตรฐานโรงแรมสีเขียว (ASEAN Green Hotel) ตั้งแต่ปี 2551 รวมถึง กำหนดมาตรฐานบุคลากร เพื่อยกระดับมาตรฐานของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว โดยการจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับในมาตรฐานร่วมกันในวิชาชีพสาขาการท่องเที่ยว ASEAN MRA (ASEAN Mutual Recognition Arrangement) ซึ่งแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ พนักงานในสำนักงาน (Front Office) พนักงานทำความสะอาด (House Keeping) ผู้ผลิตอาหาร (Food Production) ผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage Services) ตัวแทนนำเที่ยว (Travel Agencies) และผู้ประกอบการท่องเที่ยว (Tour Operation/Tour Agencies)
3) การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ATSP (ASEAN Tourism Strategic Plan 2010 — 2015) ร่วมกัน โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างของคณะทำงาน เพื่อมุ่งเน้นการตลาดและการสื่อสาร(Marketing and Communications) ด้านการท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality Tourism) และการพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยว (Tourism Product Development) ในภูมิภาคอาเซียน
4) ประเทศสมาชิกอาเซียน กล่าวถึงประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง โดยมีทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวที่หลากหลาย และในหลายแห่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ส่วนมากจะมาซ้ำเป็นประจำทุกปี
5) การเปิดเสรีสาขาท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยและสมาชิกอาเซียน มีโอกาสเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่จำกัดจำนวน อาจส่งผลกระทบทำให้แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม และอาจกลายเป็นจุดอ่อนของภูมิภาคอาเซียนได้ ดังนั้นควรมีกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในกลุ่มนักท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
6) เน้นการทำตลาดร่วมกันในกลุ่มประกาศสมาชิกอาเซียน เพื่อเป็น Single Destination และเน้นการท่องเที่ยวคุณภาพโดยส่งเสริมการสร้างมาตรฐาน โรงแรม อาหาร และโฮมสเตย์ ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ท่องเที่ยวอาเซียน
7) เน้นการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาต่างประเทศที่หลากหลาย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่า ภาษารัสเซีย ภาษาเกาหลี ภาษาสเปน เป็นต้น
8) ตกลงจัดกิจกรรมร่วมกันโดยก่อตั้ง ศูนย์ท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Center) เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอาเซียนพร้อมเน้นการทำตลาดกับกลุ่มเยาวชนในรูปแบบแค้มป์เยาวชนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น
9) กำหนดมาตรฐาน กรีนโฮเต็ล (Green Hotel) และมาตรฐานด้านบริการอาหารและเครื่องดื่ม (ASEAN Local Food and Beverage Service) พร้อมกับการกำหนดโลโก้มาตรฐานอาเซียน
10) การพัฒนาการสื่อสารผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต (Internet) เพื่อการเข้าถึงและเยี่ยมชมเว็บไซด์ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ชื่อ www.asean-tourism.org
11) ขยายเครือข่ายความร่วมมือการลงทุนด้านการท่องเที่ยวสู่กลุ่มประเทศอาเซียน+3 หรือ APT (The ASEAN Plus Three: China, Japan and the Republic of Korea) และ อาเซียน+6 หรือ APS (The ASEAN Plus Six: China, Japan, the Republic of Korea, India, Australia, and New Zealand)
ทั้งนี้หลังจากประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาในขั้นสุดท้ายแล้วจะได้นำเสนอข้อสรุปต่อที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ณ ประเทศกัมพูชา ในช่วงเดือนมกราคม 2554 ต่อไป
รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปิดท้ายว่า ที่ประชุมยังรับทราบสถิตินักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกที่เข้ามาท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนในปี 2553 มีทั้งสิ้น 51.3 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวยังกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนอินโดนีเซียรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวมาบาหลีวันละ 5,000 - 6,000 คน ด้านลาวมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปี 2552 สำหรับมาเลเซียมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1.4 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเอเชียและกลุ่มภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ส่วนเมียนร์ม่ามีนักท่องเที่ยว 280,000 คน ด้านฟิลิปปินส์ มีนักท่องเที่ยว 2.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 สำหรับสิงคโปร์ มีนักท่องเที่ยว 8.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.2 ทางด้านเวียดนามมีนักท่องเที่ยว 3.5 ล้านคน และไทยในปี 2552 มี 14.10 ล้านคน คาดว่าปี 2553 จะมี 15 ล้านคน โดย 9 เดือนแรกของปี 2553 ไทยมีนักท่องเที่ยวจำนวน 11.20 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น