จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“Asean Plus 3 กับการขนส่งและการท่องเที่ยว”

เอกสารประกอบการสอนวิชาธุรกิจการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว

รวบรวมโดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลที่ทรงคุณค่าดังต่อไปนี้
วัฒนธรรมไทยกับโอกาสทางธุรกิจ
สถานทูตไทยในเยอรมนีกับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ เมืองแฟรงค์เฟิร์ตร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ไทยเฟสติวัล2008” ที่สวนสาธารณะคัวร์ปาร์ค เมืองบาด ฮอมบวร์ก ซึ่งจะจัดทุกๆ1ปีจากที่เคยจัดทุก2ปี เมืองบาด ฮอมบวร์ก (Bad Homburg) เป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทาน "ศาลาไทย" หรือที่คนเยอรมันรู้จักในชื่อ Der Siamesische Tempel เมื่อพ.ศ. 2450 เมื่อครั้งทรงเสด็จฯมาประทับพักฟื้นพระอาการประชวร คำบรรยายในพิธีมอบศาลาไทย วันที่ 22 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2457 แสดงให้เห็นถึงความน่าหลงใหลของสถาปัตยกรรมแบบตะวันออกกลางสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า "สง่างามและงดงาม ตามรูปแบบเฉพาะ ศาลาอันสวยงามแห่งนี้ ตั้งเด่นอยู่เบื้องหน้าเรา เหมือนดั่งเทพนิยายจากดินแดนอันห่างไกล สีสันอันสว่างไสวทำให้ดูโดดเด่น จากต้นไม้สีเขียวที่รายรอบ และเมื่อการตกแต่งประดับประดาที่เต็มไปด้วยสีทอง ต้องแสงอาทิตย์ ก็สะท้อนเกิดเป็นประกายระยิบระยับ ชวนหลงใหล เหมือนดั่งว่า ความรุ่งโรจน์และตำนานแห่งความมั่งคั่ง แห่งดินแดนตะวันออกอันไกลโพ้น ได้ประจักษ์แจ้งอยู่เบื้องหน้า แก่สายตาเราแล้ว"

สวนสาธารณะในเมืองบาด ฮอมบวร์กมีศาลาไทยที่ผู้สูงอายุไปร้องเพลงเต้นรำสนุกสนานกันเคยมาเมืองไทย ชอบเมืองไทย อาหารไทย วัฒนธรรมไทยและมีความประทับใจ ในเมืองบาด ฮอมบวร์ก (Bad Homburg) มีคนยืนต่อคิวซื้ออาหารไทยที่ร้าน Thai Express ของชาวยิวซึ่งมียอดขายเดือนละนับล้านบาท พ่อครัวแม่ครัวเป็นคนไทยได้เงินเดือนละประมาณ ๗ หมื่นบาท ในเยอรมนีไม่มีอาหารชาติใดเด่นเท่าอาหารไทย จึงประชาสัมพันธ์เช่นเดียวกับการวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์

จังหวัดท่องเที่ยวของไทยไม่ค่อยมีการจัดงานแสดงทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมควรส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวในร้านอาหารไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายจังหวัดที่นักท่องเที่ยวอยากไปพักแต่กลางคืนไม่มีอะไรให้ชมจึงมักไปเที่ยวพัทยา สมุย ภูเก็ต ฯลฯ[1] แทน

การปรับตัวของธุรกิจการก่อสร้างสาธารณูปโภคกับเครือข่ายการขนส่งผู้โดยสารในจีนและอินเดีย
ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2559 จะไม่มีภูมิภาคไหนกลุ่มประเทศใดมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมากกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดียรวมกัน(Chindia) เศรษฐกิจจีนและอินเดียจะเติบโตปีละ 8-10% ประเทศอินเดียมีเศรษฐี 10-15% ของประชากร มีชนชั้นกลางหลายร้อยล้านคน คนเหล่านี้มีพลังในการใช้เงินสูงเพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก ในพ.ศ.2549 การลงทุนของอินเดียมีสัดส่วน 27% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) การบริโภคภายในประเทศของอินเดียมีตัวเลขสูง 60% ของจีดีพี ถ้าสูงติดต่อกันอีก10 ปี และมีการปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ดีขึ้น สหรัฐอเมริกาก็สู้อินเดียไม่ได้ เมื่อประเทศทั้งสองจำเป็นต้องก่อสร้างถนน สะพาน ท่าเรือ สนามบิน และ ฯลฯ บริษัทก่อสร้างของไทยควรรีบไปสร้างความสัมพันธ์เพื่อจะได้รับโอกาสไปธุรกิจข้างต้น

การเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์และเตือนภัยในหลายเว็บไซต์ ส่วนตลาดในแอฟริกา เอเชียกลาง และยุโรปตะวันออกซึ่งเคยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ผลิตสินค้าไทยได้ก็ถูกสินค้าจีนเข้าไปวางขายจนไม่มีที่ว่าง เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวก็ขายสินค้าไม่ได้ ไม่มีเงินเข้าประเทศ เมื่อไม่มีเงินการสร้างงานก็ไม่เกิดขึ้น เงินก็ไม่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ บริษัทก่อสร้างทั้งหลายจึงต้องหาทางรีบไปทำธุรกิจใน “ชินเดีย” [2]

ระบบการศึกษาสมัยโบราณของจีนใช้วิธีการสอบเริ่มตั้งแต่ ซิ่วไฉ ปั้งงั่ง (ถั้มไฉ) และจอหงวน การเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศจีนเป็นเรื่องยากมาก แต่ละปีจะมีนักเรียนมัธยมปลายหาที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ไม่เกิน ๕ ล้านคน หากพ่อแม่มีฐานะดีก็จะส่งลูกไปเรียนในประเทศตะวันตก พวกที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับกลางจะส่งลูกมาที่ไทย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเพียงแห่งเดียวมีนักศึกษาจีนเกือบจะหนึ่งพันคน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี ฯลฯ ก็มีนักศึกษาจีน ส่วนนักศึกษาจีนมุสลิมจากมณฑลหยุนหนานก็ไปเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ คน

ขณะที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในไทยระหว่างพ.ศ.2551-2553 สถานีวิทยุโทรทัศน์จีนมักนำภาพที่ประชาชนทำร้ายกันเองมาถ่ายทอดซ้ำๆ จนพ่อแม่ของนักศึกษาจีนในไทยต่างก็พากันตกใจและโทรศัพท์เข้ามาที่สถานกงสุลจีนว่าจะย้ายลูกไปเรียนที่อื่นเมื่อนักศึกษาจีนอธิบายให้ฟังก็เข้าใจ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มีใครไปอธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยกเลิกการเดินทางกว่า ๗๐% จนต้องงดบินเที่ยวบินคุนหมิง-กรุงเทพฯ

พ่อค้าอัญมณีไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการถูกพ่อค้าจีนและอินเดียแย่งตลาดพลอย มากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ จากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบางคนสั่งให้ตำรวจจับพ่อค้าอัญมณีผิวดำ แต่จีนและอินเดียกลับเชิญให้เอาพลอยดิบไปขาย ทำให้วงการอัญมณีไทยสูญไปปีละกว่าแสนล้าน

ปัจจุบัน จีนมีมาตรการหลายด้านกดดันสินค้าไทย เช่น ด้านสุขอนามัย ตอนค้าขายกันแรกๆ ภาษีก็คิดแพง เมื่อมีเขตการค้าเสรี(Free Trade Area: FTA) ไม่มีภาษีสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน แต่พอสินค้าเกษตรไทยไปถึงจีน กลับโดนกักตรวจครั้งละ 2-3 วันทำให้สินค้าเสียหายนำออกไปขายไม่ทัน สัญญา FTA ระหว่างไทยกับจีนระบุว่า สินค้าจีนมาไทย ภาษีเหลือ 0 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มี แต่พอสินค้าเกษตรไทยไปจีน ภาษีศุลกากรเป็น 0 ก็จริงอยู่ แต่โดนภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% [3]

ย้อนรอยบ้านพี่เมืองน้อง(Sister Cities)กรุงเทพฯกับเมืองแต้จิ๋ว(ซานโถว)
กรุงเทพมหานครมีความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้อง( Sister Cities) กับเมืองต่างๆ 11 เมือง คือ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (สหรัฐฯ) กรุงปักกิ่ง (จีน) กรุงบูดาเปสต์ (ฮังการี) นครบริสเบน (ออสเตรเลีย) กรุงมอสโก (รัสเซีย) นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (รัสเซีย) กรุงมะนิลา (ฟิลิปปินส์) กรุงจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) กรุงฮานอย (เวียดนาม) กรุงเวียงจันทน์ (ลาว) และกรุงอัสทานา (คาซัคสถาน)

คนจีนส่วนใหญ่อพยพออกไปจาก 2 มณฑล คือ มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ซึ่งมีทั้งจีนกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ แคะ (ฮากกาหรือเคอะ) และแต้จิ๋ว พวกเขาถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากเจ้าของพื้นที่และเจ้าอาณานิคม แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเปิดประเทศค้าขายกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน อิหร่าน หรือฮอลันดา ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ค้าขายได้เสรี ชาวจีนโพ้นทะเลในฟิลิปปินส์ย่านปาลีอันกลับถูกสเปนฆ่าตายมากกว่า 23,000 คน ต่อมาอีก 36 ปี ก็ขับไล่ชาวจีนจากเกาะลูซอน ทำให้คนจีนตายถึง 24,000 คน เมื่ออังกฤษยึดมะนิลาได้ในพ.ศ. 2305 ทำให้ชาวจีนมีอิสระขึ้น แต่อีก 2 ปี อังกฤษก็มอบเอกราชคืนแก่สเปน คนจีนในฟิลิปปินส์ก็ถูกจับแขวนคอตายหลายหมื่นคน

ชาวจีนโพ้นทะเลจากตอนใต้ของจีนที่อพยพไปเกาะชวาเผชิญกับความโหดร้ายมากกว่าชาวจีนที่ไปฟิลิปปินส์ เพราะชาวดัตช์ให้สภาตรากฎหมาย “ล่าจีนฟรี” ทำให้มีกรณี “ปัตตาเวียพิโรธ” ฆ่าคนจีนตายอีกหลายหมื่นคน ในมาเลเซียคนจีนถูกฆ่ามากกว่าประเทศใดจากการปะทะกับอังกฤษปและชาวพื้นเมืองมาเลย์กีดกันจีน

คนจีนจากกว่างตง อพยพไปเกาะฮ่องกงและมาเก๊า 6 ล้านคน มาไทย 4 ล้านคน ไปเวียดนาม 1.8 ล้านคน ไปสหรัฐฯ 1 ล้านคน ไปฟิลิปปินส์ 6 แสนคน ไปแคนาดา 5 แสนคน และไปออสเตรเลีย 5 แสนคน พวกที่มาจากมณฑลฟุเจี้ยนส่วนใหญ่แล่นไปขึ้นท่าเรือของมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ชาวจีนโพ้นทะเลถูกเรียกว่า “หัวเฉียว”

ปลายสมัยอยุธยามีคนจีนเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อจีนไหฮองสมรสกับนางเอี้ยงหญิงไทยแล้ว ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผูกขาดเป็นนายอากรบ่อนการพนัน มีฐานันดรศักดิ์ว่า “ขุนพัฒน์” สร้างบ้านตรงข้ามกับเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายกใกล้กำแพงกรุงศรีอยุธยา ขุนพัฒน์มีบุตรชาย ต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในสมัยธนบุรี พ่อค้าจีนนำสำเภาเข้ามาขายอาวุธซึ่งรับมาจากพ่อค้าตะวันตกและสินค้าอื่นๆ อีกหลายประเภท ชาวจีนอพยพมามากกว่าชาวต่างชาติชาติอื่นๆ เพราะมณฑลกว่างตงมีที่ดินทำไร่นาเรือกสวนน้อย บางท้องที่มีที่ราบแต่กันดาร น้ำทะเลท่วมจนดินเสื่อม และตอนหลังยังมีการรบระหว่างพรรคกั๋วมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์

คนจีนอพยพมาไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1(พ..ศ.2461-2464) ถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา(พ.ศ.2484-2489) ส่วนใหญ่มาจากตอนใต้ คือ มณฑลกว่างตง เรือจากท่าเมืองซานโถว หรือซัวเถา จึงเต็มไปด้วยผู้คนที่มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบหนีจากซานโถวสื้อ หรือ นครซานโถว เฉาโจวสื้อ หรือ นครเฉาโจว เฉาอานเสี้ยน หรือ อำเภอเฉาอาน บางส่วนมาจากหราวผิง ฮุ่ยไหล ผู่หนิงและเหมยเสี้ยน(อำเภอเหมย) ซึ่งมักเป็นจีนแคะ (ภาษาจีนกลางเรียกว่า เคอะ) พวกที่ล่องมาขึ้นที่ท่าน้ำราชวงศ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พวกคนจีนโดยโปรดเกล้าฯให้สร้างถนนเยาวราช เมื่อ พ.ศ. 2434 ต่อมาก็เสด็จฯ เปิดโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ เมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2448 มีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “พวกจีนทั้งหลายซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงสยามนี้ ย่อมมาทำการให้เป็นความเจริญแก่แผ่นดินของเราเป็นอันมาก เพราะเหตุฉะนั้น พวกจีนจึงได้รับความปกครองทะนุบำรุงด้วยความเอื้อเฟื้อเสมอเหมือนอย่างคนไทย ความสนิทสนมในระหว่างพวกจีนกับราษฎรของเรา ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิได้ถือว่าเป็นคนมาแต่ต่างประเทศ”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. บินไปลงนามกับผู้บริหารเมืองเฉาโจว (หรือเมืองแต้จิ๋ว) มีการลงนาม 2 ฉบับ คือ MOU ความสัมพันธ์ลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง และข้อตกลงความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว คนแต้จิ๋วในไทยมีมากกว่า 4 ล้านคน และ 80% อยู่ในกรุงเทพฯ [4]

รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ระบุว่า ในอนาคตอันใกล้มหาอำนาจโลกจะประกอบด้วย จีน สหรัฐฯอินเดียและเยอรมนี การเติบโตของจีนอยู่ภายใต้ปัจจัยที่ว่า “รัฐบาลจีนวางเป้าหมายว่าอีก 6 ปีข้างหน้า หากทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ในปี พ.ศ. 2553 จีนมีGDP 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และในพ.ศ. 2556 เศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าประเทศเยอรมนี ขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก พ.ศ. 2568 จีนจะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็น มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และ พ.ศ. 2592 จีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก” ในปี 2547 จีนส่งออกสินค้าเป็นมูลค่า 593,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประมาณ 24.3 ล้านล้านบาท ยังไม่นับการบริโภคภายในประเทศ เกินดุลการค้า 32,000 ล้านดอลลาร์

แม้จะประกาศสนับสนุนระบบการค้าเสรี แต่กระแสต้านจีนในสหรัฐอเมริกาแรงมาก โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติด้วยคะแนน 333-92 เสียง ห้ามรัฐบาลอนุมัติให้บริษัทซีนุกของจีนซื้อบริษัทน้ำมันยูโนแคล ทั้งๆ ที่เสนอซื้อในราคา 18,500 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่บริษัทเชฟรอนเสนอซื้อเพียง 16,000 ล้านดอลลาร์

รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ กล่าวยกย่องการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและกรมส่งเสริมการส่งออกที่มุ่งจัดแสดงสินค้า แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวและเปิดตลาดท่องเที่ยว เมื่อสังคมโลกจับตามองจีน กรมส่งเสริมการส่งออกก็ร่วมมือกับเมืองซ่านโถว(ซัวเถา)และสายการบินไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ของจีน จัดงานแสดงสินค้าไทย 2001 ที่เมืองซัวเถา ระหว่างวันที่ 20–24 ต.ค. 44 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าไทยเรียนรู้ลู่ทางการค้าและเผยแพร่สินค้าไทยให้ผู้บริโภคชาวจีนรู้จักมากขึ้น[5]

การเข้าใจวัฒนธรรมจีนและชนชาติต่างๆมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง จีนรุ่น1 หมายถึง ยุคของเหมา เจ๋อ ตง จีนรุ่น 2 คือ ยุคของเติ้ง เสี่ยว ผิง จีนรุ่น 3 คือ รุ่นของเจียง เจ๋อ หมิน ปัจจุบัน จีนอยู่ในรุ่น 4 คือ ยุคของหู จิ่น เทา ยุคของเหมา เจ๋อ ตง คนจีนใฝ่ฝัน “สี่สิ่ง” มีรถจักรยาน วิทยุ นาฬิกาและจักรเย็บผ้า สมัยปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยว ผิง สตรีจีนปรารถนาบุรุษจีนผู้มีครบ “สามสูง” คือ เงินเดือนสูง การศึกษาสูง และสูงเกิน 5 ฟุต 6 นิ้ว ประธานาธิบดีหูจิ่นเทามีครบ“สามสูง” [6] นักศึกษาไทยที่ไปเรียนในประเทศมองว่า ปัจจุบันหนุ่มสาวจีนยึดวัตถุนิยมมากขึ้น คนจีนยุคใหม่ต้องมีตัวอักษร C ให้ครบ 7 ตัวคือ Coke คนจีนนิยมดื่มโค้กมากกว่าน้ำชา ใครจะจีบสาวจีนต้องทำตัวทันสมัยดื่มโค้กเป็นประจำ Credit Card คนจีนสมัยใหม่พกบัตรเครดิตแทนเงินสด Car ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนสูงถึงปีละ 5 ล้านคัน ไม่มีรถยนต์ สาวจีนก็ไม่มอง Condominium หนุ่มสาวจีนต้องมีคอนโดมิเนียมหรูหรา Communication คือ การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เสมอ Club คนจีนยุคใหม่ต้องเป็นสมาชิกสโมสรเพื่อการออกกำลังกาย และ Condom ที่มาแรงในคนรุ่นใหม่ [7]

การพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวของจีนที่มาเก๊า
มาเก๊า( Macao Special Administrative Region- MSAR) มีพลเมือง 4.8 แสนคน แต่มีนักท่องเที่ยวถึง 2.6 ล้านคน พ.ศ.2548 มาเก๊าเป็นเขตบริหารพิเศษ 1ใน 2 แห่งของจีน คือ ฮ่องกงกับมาเก๊า ผู้บริหารสูงสุด คือ Chief Executive การท่องเที่ยวทำให้มาเก๊ามีเงินทุนในคลังสูงถึง 6.3 หมื่นล้านปาตาคา ( 7.88 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากถึง 5.03 หมื่นล้านปาตาคา( 6.29 พันล้านดอลลาร์)

ผู้บริหารมาเก๊ามีนโยบายทำให้ท่องเที่ยวเติบโต ในพ.ศ.2548 ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มร้อยละ 16 มากกว่ายุคผู้บริหารชุดพ.ศ.2543 ถึงร้อยละ 88 นักธุรกิจโรงแรมมีรายได้มากขึ้นร้อยละเกือบ 20

พ.ศ.2547 รัฐบาลมาเก๊าเก็บภาษีจากกาสิโน 528 พันล้านดอลลาร์ ปีพ.ศ.2548 เก็บภาษีได้ 575 พันล้านดอลลาร์ รายได้จากภาษีมากทำให้รัฐบาลมาเก๊าสามารถพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวด้านอื่นพร้อมกันไปเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์จากการที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส ทำให้มีสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างต่างๆ แบบโปรตุเกสโบราณและแบบผสมระหว่างโปรตุเกสกับจีน

โครงการ “ความร่วมมือแห่งแม่นํ้าจูเจียง” เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การเงิน และอุตสาหกรรม สมาชิกของโครงการนี้มีทั้งมณฑลกว่างตง มณฑลฝู-เจี้ยน มณฑลซื่อฉวน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลยูนนาน มณฑลไหหนาน มณฑลเจียงซี เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ฮ่องกง และมาเก๊า มาเก๊าเป็นผู้ส่งสินค้าเข้าไปขายในจีนและนำสินค้าจากมณฑลด้านในออกมาขาย พ.ศ.2550 เป็นปีที่ 8 ที่มาเก๊ากลับมาสู่อ้อมกอดการปกครองของจีน[8]
การขนส่งทางเรือของจีนที่เซินเจิ้น

เซินเจิ้นเดิมเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ทางใต้สุดของมณฑลกว่างตง เซินเจิ้นเป็นเมืองเดียวที่มีเขตแดนติดกับฮ่องกง รัฐบาลจีนตั้งเซินเจิ้นเป็นเมืองพ.ศ.2522 ขณะนั้นมีประชากร 20,000 คน ในพ.ศ.2523 เซินเจิ้นได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 4 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ(แปรรูปเพื่อการส่งออก)แห่งแรกของจีน มีพื้นที่รวม 391 ตารางกิโลเมตร ในปีพ.ศ.2550 เซินเจิ้นมีพลเมืองสี่ล้านคน นอกจากจะมีตึกสูงเพิ่มขึ้นจำนวนมากแล้ว ยังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก เฉลี่ยปีละ 20% โดยร้อยละ 25 ของครัวเรือนจะมีรถยนต์ 1 คัน เป็นสัดส่วนสูงกว่าปักกิ่ง 3 เท่า เซินเจิ้นประสบความสำเร็จมากที่สุดในเขตเศรษฐกิจทั้งหมดของจีน บริษัทชั้นนำ 100 แห่ง จาก 500 อันดับแรกของโลก ต่างไปลงทุนที่เซินเจิ้น ทำให้เมืองขยายตัวกว่าเดิม 3 เท่า

สิ่งที่ทำให้เซินเจิ้นประสบความสำเร็จ คือ การขนส่งทางน้ำ เซินเจิ้นมีท่าเรือขนาดใหญ่ 8 แห่ง เป็นท่าเรือตู้สินค้าใหญ่อันดับ 4 รองจากฮ่องกง สิงคโปร์และเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือเหนียนเทียนแห่งเดียวสามารถรองรับการจัดเก็บเรือตู้สินค้าได้มากถึง 2 ล้านทีอียู[9] ปัจจุบันรัฐบาลกลางอนุมัติการก่อสร้างท่าเทียบเรือตู้สินค้าเพิ่มอีก 4 แห่ง

การจะให้ประเทศเจริญต้องใส่ใจโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ทั้งทางรถไฟ รถขนส่งในเมือง การขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ สนามบินสุวรรณภูมิไม่อาจเทียบกับสนามบินป่าวอันของเซินเจิ้นได้เลย สิ่งทำให้เซินเจิ้นพัฒนาเร็วกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น คือ การลงทุนในงบประมาณทางการศึกษา วิจัยและพัฒนา งบการศึกษาของเซินเจิ้นสูงมาก ส่วนงบวิจัยและพัฒนา คิดเป็นเงิน 3% ของจีดีพีเมือง คือ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 2.5 แสนล้านบาท) [10]

ธุรกิจการขนส่งกับการท่องเที่ยวที่มณฑลหยุนหนาน
จีนเริ่มเปิดการท่องเที่ยวครั้งแรกที่มณฑลหยุนหนาน เพราะมีทรัพยากรป่าดึกดำบรรพ์ หุบเขา และถ้ำหินสวยงามมากมาย เมืองต้าลี่เป็นแค้วนโบราณที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ถัง มณฑลหยุนหนานมีขนาดใหญ่อันดับ 8 ของจีน พื้นที่เกือบ 4 แสนตารางกิโลเมตร มีภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบสูง 93% จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ พืชสมุนไพรของจีนส่วนมากได้จากมณฑลนี้ หยุนหนานยังมีสัตว์ป่า 1,658 ชนิด เช่น ลิงสีทอง นกยูงเผือก หมีแพนด้า ชะนีสีสวาด ฯลฯ จึงถูกเรียกเป็นอาณาจักรแห่งพืช สัตว์และ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต”

การค้าขายของคนไทยที่หยุนหนานมีไม่ถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้อยกว่าพม่า ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ค่าเล่าเรียนถูก ค่าครองชีพต่ำ ระยะทางไม่ไกล เดินทางได้ทั้งเครื่องบิน รถและแล่นเรือไปในลำน้ำโขง แต่มีนักเรียนไทยน้อย ทำให้ประเทศไทยขาดบุคลากรที่ชำนาญภาษาจีน และคุ้นเคยธรรมชาติการค้าขายในมณฑลหยุนหนาน ไม่เหมือนสิงคโปร์และมาเลเซีย ผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์แบบพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เน้นโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจหรือโครงการอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง

เส้นทางรถยนต์ไปหยุนหนานยังใช้ขนสินค้าทรัพยากรและวัตถุดิบไป-กลับลำบาก ต้องทางอาศัยรถไฟกับทางเรือ หากการสร้างทางรถไฟสายหยุนหนาน-ไทย จากหนองคายข้ามไปเวียงจันทน์ เชื่อมหลวงพระบาง สุดพรมแดนลาวที่บ่อเต็น เข้าจีนไปที่เมืองลาสิ้นสุดที่เชียงรุ่งสำเร็จลงได้ ไทยจะได้ประโยชน์มหาศาล

เมื่อเข้ามณฑลหยุนหนาน จะมีทางรถไฟต่อไปมณฑลอื่นๆ ได้แก่ สายคุนหมิง-กุ้ยหลินเชื่อมเส้นทางไปถึงปักกิ่งกับช่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) จากมณฑลหยุนหนานไปเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีสายคุนหมิง-หนานหนิง หากจะไปเวียดนามก็มีสายคุนหมิง-ไฮฟอง ทางรถไฟที่ไปท่าเรือไฮฟองมีรางแคบแค่ 1 เมตร และต้องไต่ขึ้นเขาสูง เข้าถ้ำ เลียบเหว ระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร คนจีนกล่าวว่า นั่งเกวียนไปยังเร็วกว่านั่งรถไฟสายคุนหมิง-ไฮฟอง

การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เมืองโบราณลี่เจียงในจีน
นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างประเทศเบียดเสียดกันในเมืองโบราณลี่เจียง ด้วยบรรยากาศการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งและได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก หน้าบ้านในเมืองโบราณลี่เจียงมีลำธารไหลผ่านทุกหลัง ผู้บริหารของเมืองลี่เจียงจึงให้มีการลอยกระทงทุกคืน เป็นการสร้างทรัพยากรการท่องเที่ยวทางประเพณี ใครต้องการอธิษฐานให้สมหวัง หรือให้สมาชิกครอบครัวโชคดีมีความสุขก็ไปลอยกระทง ลำธารที่ไหลวกไปเวียนมาเหมือนเปียถักจากเทือกเขาหิมะมาถึงหน้าบ้านยามราตรีซึ่งมีกระทงของนักท่องเที่ยวลอยน้ำไปอย่างสวยงามน่าประทับใจ ผู้บริหารเมืองลี่เจียงได้ปล่อยปลาหลายร้อยชนิดลงไปในลำธาร นักท่องเที่ยวมักพูดว่าแค่มาได้เห็นปลาหลายพันธุ์ในลำธารที่ใสสะอาดก็คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป

ความสะอาดของเมืองลี่เจียงโบราณมีความโดดเด่นเป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีถังขยะขนาดใหญ่วางหน้าบ้าน ทุกชั่วโมงจะมีรถขนขยะคันเล็กๆ เปิดเพลงรณรงค์รักษาความสะอาดชาวบ้านจะรีบเอาขยะมาโยนใส่รถ ทุกเช้าตรู่จะพนักงานใช้สวิงช้อนก้อนเศษไม้ที่ไหลจากภูเขาออกไป เพื่อให้น้ำในลำธารสะอาด

จีนมีรายได้จากการส่งออกมหาศาล ทำให้ปลายพ.ศ. ๒๕๔๙ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง ๑ ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯเป็นประเทศแรกของโลก รัฐบาลจีนกระจายรายได้แก่คนในท้องถิ่นโดยห้ามมัคคุเทศก์ออกไปนำเที่ยวข้ามเมืองนอกจากนี้

ผู้บริหารเมืองลี่เจียงบอกว่า ชาวลี่เจียงมีเงินมากมายจากการท่องเที่ยว แม้อยากจะมาไทยแต่ในเว็บไซด์มีแต่คำบรรยายเป็นภาษาไทยกับอังกฤษเท่านั้นจึงสื่อกันได้ไม่ทั่วถึง ลี่เจียงมีนักท่องเที่ยวเบียดเสียดกันมาก คนส่วนใหญ่ได้ยินชื่อเสียงอาหารไทยแต่มีร้านอาหารไทยในโรงแรมแกรนด์ลี่เจียงบริเวณเมืองเก่าของนายสนธิ ลิ้มทองกุลเพียงแห่งเดียว หากใครจะเปิดภัตตาคารร้านอาหารไทย ผู้บริหารเมืองลี่เจียงก็ยินดีจะหาสถานที่ดีที่สุดให้ [11]

การขนส่งทางรถไฟในจีน
การใช้บริการการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟมีสภาพที่คับคั่งและแออัดยัดเยียดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ดังนั้นกว่ารตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์จะเข้าไปถึงชานชาลาได้ ก็ต้องเบียดเสียดผู้คนเข้าไปอย่างทุลักทุเล รถไฟสายตงเป่ยลู่เสี้ยน(สายตะวันออกเฉียงเหนือ)ระหว่างปักกิ่ง-เมืองฉี๋ฉี๋ฮาเออ เคลื่อนออกจากสถานีรถไฟปักกิ่งช้าๆ ตั๋วโดยสารนั่งราคา ๑๕๑ หยวน(หยวนละ ๔.๕บาท) เดินทางจากปักกิ่งถึงเมืองฮาเอ่อร์ปิน(ฮาร์บิน) ใช้เวลา ๑๖ ชั่วโมง

ในขบวนรถมีผู้ชายแย่งที่นั่งหญิงสาว หากเอากระเป๋าลงมาก็จะมีผู้โดยสารอื่นเอาของขึ้นไปวางแทน จีนเป็นชาติใหญ่ไม่มีใครเห็นใจใคร คนไทยที่ไปเที่ยวจีนหรือไปทำงานในเมืองใหญ่ไม่มีโอกาสได้เห็นภาพเช่นนี้ ถ้าไม่มีคนพูดภาษาจีนกลางไปด้วยห้ามเดินทางเด็ดขาด

จีนมีประชากรกว่า ๑,๓๐๐ ล้านคน การขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอ รถประจำทางและรถไฟจึงมีตั๋วยืนราคาถูกลงมา แค่ลุกไปห้องน้ำบนรถไฟสายยาวของจีนก็จะมีผู้โดยสารตีตั๋วยืนเข้านั่งแทน ความลำบากทำให้คนจีนที่ไปเห็นทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ในแอฟริกาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ประเทศละหลายหมื่นคน บางประเทศมีคนจีนเป็นแสนคน

เมื่อวันที่๙ มกราคม ๒๕๕๑ เจ้าหน้าที่ของจีน มองโกเลีย รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์และเยอรมนีลงนามบันทึกช่วยจำที่ปักกิ่งขยายความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้า รถไฟสายโลจิติกส์จากปักกิ่งขบวนแรกได้แล่นออกจากฐานโลจิติกส์ของบริษัท ไชนา เรลเวย์ คอนเทนเนอร์ ทรานสปอร์ต (China Railway Containner Transport) สู่ปลายทางนครฮัมบูร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีระยะทาง ๙,๗๘๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๑๘ วัน

จีนและเวียดนามได้เปรียบไทยมาก ทิศเหนือของเวียดนามเป็นเขตปกครองตนเองกว่างซี มีถนนและรถไฟไปเชื่อมต่อกับมณฑลต่างๆของจีน เวียดนามมีท่าเรือน้ำลึกหลายแห่ง อยู่ไม่ไกลจากมณฑลตอนใต้ของจีนกับมณฑลตะวันออกซึ่งมีเครือข่ายท่าเรือเชื่อมกับรางรถไฟ สินค้าจากทั้งสองประเทศจึงใช้รถไฟไประบายในสาธารณรัฐแลนด์ล็อกที่ไม่มีทางออกทะเล

จากปักกิ่งเดินทาง ๑๖ ชั่วโมงถึงนครฮาเอ่อร์ปิน มณฑลเฮยหลงเจียงอยู่ติดกับรัสเซีย นักเดินทางต้องหาซื้อเสื้อผ้าใหม่เพราะเสื้อผ้าที่ใส่จากกรุงปักกิ่งรับอุณหภูมิได้ประมาณ – ๑ ถึง – ๑๐ องศาเซ็นเซียส แต่อุณหภูมิกลางคืนนอกเมืองฮาเอ่อร์ปินต่ำประมาณ –๓๕ องศา ในตัวนครฮาเอ่อร์ปิน ประมาณ– ๒๖ องศา[12]

คนไทยคุ้นเคยกับการลงทุนที่มณฑลทางภาคใต้และเมืองท่าของจีน ได้แก่ หยุนหนาน กว่างตง (กวางตุ้ง) ผูเจี้ยน ไหหนาน (ไหหลำ) เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเห็นว่าภาคเหนือกับภาคตะวันตกที่ติดกับมองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซ ฯลฯ ยังไม่เจริญ

จีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีที่ติดทะเลทางตอนใต้และตะวันออกบางส่วน การพัฒนาประเทศจึงไม่กระจาย จากการประชุมที่ซีอานทำให้รู้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า(พ.ศ.2558) จีนจะใช้เงินสร้างรางรถไฟอีก 127 พันล้านหยวน(693,000 ล้านบาท) จะสร้างสนามบินอีก 28 แห่ง และปรับปรุงสนามบินหลักอีก 27 แห่งใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตก โดยใช้เงินอีก 20 พันล้านหยวน(แสนกว่าล้านบาท) เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากทุกทวีปบินตรงไปยัง 12 มณฑลทางภาคตะวันตกโดยไม่ต้องผ่านปักกิ่งหรือภาคอื่นๆ กระทรวงรถไฟจีนยังมีโครงการจะสร้างรถไฟหลายสาย เช่น

1. เส้นทางรถไฟจากนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนานมาสิงคโปร์ ผ่านพม่า ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นายหวัง หลินซู กล่าวถึงเฉพาะข้อดีด้านการขนถ่ายสินค้า การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างจีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย และการหาทางออกทะเลให้สินค้าที่ผลิตจากทางตอนใต้ของจีนสู่สิงคโปร์แต่ไม่ได้พูดถึงเมืองไทย
2. เส้นทางรถไฟจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ไปสาธารณรัฐต่างๆในเอเชียกลาง มีการประชุมว่าจะสร้างรางนานาชาติระยะทาง 300 กม. รถไฟระหว่างจีน คีร์กีซ และอุซเบกิสถาน เพื่อไปเชื่อมกับรางเดิมของแต่ละประเทศ เริ่มจากเมืองกาชิในซินเจียงฯ ผ่านประเทศคีร์กีซไปยังเมืองแอนดิซฮานในอุซเบกิสถาน
ซินเจียงอุยกูร์กว้างใหญ่กว่าไทยหลายสิบเท่า ผลิตผลไม้และฝ้ายปีละมากๆ แต่ไม่มีตลาด เพราะขาดเส้นทางการขนส่ง ท่าเรือก็ไม่มี จะส่งทางเครื่องบินก็แพง ขณะที่แทบทุกสาธารณรัฐในเอเชียกลางมีน้ำมันมาก เมื่อจีนไม่มีน้ำมันก็ทำให้เกิดการแลกสินค้ากันโดยใช้รถไฟ[13]

โอกาสของการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง
จีนเรียกแม่น้ำโขงว่า “หลานช้างเจียง” หน้าแล้งแม่น้ำโขงลึก 1.5-2 เมตร เรือที่แล่นได้จะมีขนาดไม่เกิน 80 ตัน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม น้ำลึก 4 เมตร บางช่วงลึก 7 เมตร ถ้าเจรจาขุดลอกแม่น้ำโขงได้ลึก7 เมตรขึ้นไป เรือบรรทุกสินค้าขนาด 120 ตัน ก็สามารถวิ่งได้ อันจะส่งผลให้การเดินทาง ท่องเที่ยว ค้าขายการขนส่งสินค้าและขนย้ายทรัพยากรธรรมชาติระหว่างจีนตอนใต้ พม่า ลาว ไทย เขมร และเวียดนามเกิดขึ้นมาพร้อมกับปริมาณการค้าขายและเม็ดเงินมหาศาล

การขนส่งทางแม่น้ำ ช่วยร่นระยะทางและค่าใช้จ่ายได้มาก จากท่าเรือเชียงของไปเชียงแสนในเชียงรายคิดเป็นระยะทางเรือ70 กม. จากท่าเรือเชียงแสนไปเชียงรุ่งของจีนระยะทาง 380 กม. และจากท่าเรือเชียงรุ่งไปซือเหมาในจีนระยะทาง 90 กม. แม่น้ำโขงตอนบนสามารถมีท่าเรือขนาดใหญ่ได้ถึง 13 แห่ง ในจีนมีท่าเรือเมืองซือเหมา เชียงรุ่ง เหมิ่งหานและกวนเหล่ย

ในประเทศลาวสามารถสร้างท่าเรือใหญ่ได้ที่บ้านทราย เชียงกก เมืองมอม ห้วยทราย และหลวงพระบาง ในประเทศพม่าก็สามารถสร้างท่าเรือได้ที่เมืองวังเจียงและวังปุง

ในไทยก็สามารถเปิดท่าเรือใหญ่ได้ที่เชียงแสนกับเชียงของ ประโยชน์ที่เกิดกับภาครัฐ คือ เงินเพิ่มจากภาษีขาเข้า ค่าธรรมเนียมต่างๆและค่าบำรุงท่าเรือ ทำให้ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าได้ [14]

การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
กลุ่มบริษัทบาลานซ์ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำแผนปฏิบัติการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ - ใต้ (North - South Economic Corridor) ปี2551 ภายใต้กรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) โดยเน้นความสำคัญทางเศรษฐกิจของถนนสาย R3A และถนนสายR3B

ถนนสาย R3A จากเชียงของ - ห้วยทราย - หลวงน้ำทา - บ่อเต็น - คุนหมิง เป็นเส้นทางจากไทยผ่านลาวไปจีน
ถนนสาย R3B จากแม่สาย - ท่าขี้เหล็ก - เชียงตุง - คุนหมิง เป็นเส้นทางจากไทยผ่านพม่าไปจีน

ถนนทั้งสองสายจะทำให้ไทยมีศักยภาพเป็นฐานการค้า การลงทุนอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้จังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยเป็นศูนย์กลางด้านการผลิต การค้า การลงทุนและการคมนาคมขนส่งภายใต้กรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

โครงการ GMS เป็นความร่วมมือของ ๖ ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว ญวน จีน เขมร เริ่มใน พ.ศ. ๒๕๓๕ มีธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) สนับสนุน

กลุ่มประเทศใกล้เคียงที่สามารถอำนวยความมั่งคั่งให้ประเทศไทยได้ คือ กลุ่มประเทศ GMS ซึ่งมีพื้นที่ ๒ .๓ ล้านตารางกิโลเมตร เท่ากับพื้นที่ยุโรปตะวันตก มีผู้บริโภคสินค้าและบริการไม่น้อยกว่า ๒๕๐ ล้านคน พื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รัฐบาลมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ และที่แซงแทบทุกประเทศคือ จีนและเวียดนาม เตรียมทุกอย่างไว้ให้เอกชนไปลงทุนโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก ในป่าลึกของทวีปแอฟริกาจึงมีทีมสำรวจของญี่ปุ่นที่เข้าไปสำรวจข้อมูลเพื่อประโยชน์ด้านการค้า การตลาดและการลงทุน[15]

เส้นทางหมายเลข ๑๒
เส้นทางท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่จะบูมในอนาคต คือ ถนนสายนครกว่างโจว มณฑลกว่างตง – กรุงเทพฯ มีคนจำนวนไม่น้อยขับรถยนต์จากกว่างโจว เข้าเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง พักที่เมืองหนานหนิง แล้วขับรถลงทางใต้ ไปเวียดนาม ผ่านลาว เข้าถนนหมายเลข ๑๒ ถึงนครพนมและกรุงเทพฯ

ปี2554เป็นต้นไป การท่องเที่ยวบนถนนหมายเลข ๑๒ จะคึกคัก รถขนส่งสินค้าบนถนนหมายเลข ๑๒ จะเพิ่มจำนวนอย่างมหาศาล เพราะสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ นครพนม-คำม่วน จะสร้างเสร็จ

โครงการ ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ นี้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย-เวียดนาม เมื่อ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๗ และ คณะรัฐมนตรีไทยอนุมัติงบประมาณจำนวน ๒๐ ล้านบาทให้กรมทางหลวงศึกษาความเหมาะสม เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๗

พ.ศ. ๒๕๕๒ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ เดินทางไปดูการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ โดยนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมให้ข้อมูลว่า สะพานจะสร้างเสร็จก่อนกำหนดถึง ๓ เดือน

เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ นายเริงศักดิ์ รตอ.นิติภูมิ ฯลฯ เคยเดินทางจากนครย่างกุ้งไปกรุงเหน่ปยี่ตอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า และหารือกับผู้ว่าราชการเมืองทวายเรื่องจะสร้างถนนสายใหม่จากเมืองทวายไปยังเมืองกาญจนบุรี

จากวิทัศน์ของผู้ว่าราชการจังหวัดบวกกับการเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ + เส้นทางหมายเลข ๑๒ + ความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจมณฑลกว่างตงและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง + ศักยภาพเศรษฐกิจของเวียดนาม + ทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ในลาว เชื่อว่า การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนมและเมืองน้อยใหญ่ที่อยู่ในเส้นทางกรุงเทพฯ – นครพนม -ฮานอย-หนานหนิง- กว่างโจว จะเติบโตด้วย

ลาวกำลังจะมีรถไฟ โดยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ ลาวเริ่มก่อสร้างเครือข่ายรถไฟเชื่อมลาวเข้ากับไทยและหยุนหนาน เริ่มจากนครคุนหมิงไปเชียงราย ผ่านเชียงรุ่ง เมืองลา หลวงพระบาง หลวงน้ำทาและห้วยไซ การก่อสร้างทางรถไฟของลาวน่าจะเสร็จเร็วกว่านี้ แต่เมื่อบริษัท แปซิฟิก ทรานสปอร์เตชัน จำกัด บริษัทในเครือสหวิริยาของไทย ได้สัมปทานก่อสร้างและเดินรถไฟในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทั้งหมด ๑,๕๐๐ กิโลเมตร เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ แต่จนปลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ไม่เริ่มงาน รัฐบาลลาวจึงยกเลิกสัมปทาน จากนั้นก็ต้องเปิดหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ [16]

ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์และคณะเช่ารถจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวออกสำรวจทางหลวงหมายเลข ๑๒ ซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองท่าแขกของลาว ไปจังหวัดก้วงบิ้ญของเวียดนาม ถนนหลวงสายนี้ตัดผ่านลาวเป็นระยะทางสั้นที่สุด และจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจากไทยไปลาวเข้าเวียดนามสู่จีนที่สั้นที่สุด

เส้นทางหมายเลข ๙
ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ เห็นว่า เส้นทางหมายเลข ๙ จากแขวงสะหวันนะเขตไปชายแดนของลาวที่ด่านแดนสวรรค์และเข้าเวียดนามที่ด่านลาวบาว จังหวัดก้วงตริ (กวางจิ) เหมาะที่จะไปเวียดนามทางตอนกลางเท่านั้น จากมุกดาหารไปถึงสะหวันนะเขตเป็นต้นทางของถนนหมายเลข ๙ มีเมืองเศรษฐกิจหลายแห่ง เช่น เมืองอุทุมพอน (เมืองเซโน) เมืองอาดสะพังทอง(ดงเห็น) เมืองพลานไซ (พลาน) เมืองพิน เมืองเซโปน และด่านแดนสวรรค์ของลาว จากนั้นจึงเข้าเวียดนามที่ด่านลาวบาว อำเภอเฮืองหัว จังหวัดก้วงตริ ถนนหมายเลข ๙ เป็นเส้นทางสายแรกที่เชื่อมลาวและเวียดนาม ฝรั่งเศสเคยใช้ลำเลียงทหารจากเวียดนามมาลาว เวียดนามก็ใช้ถนนสายนี้ช่วยลาวรบกับอเมริกา เมื่อสงครามสงบด่านแดนสวรรค์กลายเป็นด่านสากลแห่งแรกที่เปิดให้คนทุกสัญชาติเดินทางระหว่างลาวกับเวียดนาม ตอนนี้มีการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าผ่านด่านแดนสวรรค์ไปด่านลาวบาวมากที่สุด ทางฝั่งเวียดนามก็มีจังหวัดสำคัญ เช่น ก้วงตริ ดานัง และเทื่อเทียน-เว้ (ชื่อเต็มของจังหวัดเว้)เมืองมรดกโลก

จากมุกดาหารไปด่านแดนสวรรค์ระยะทาง ๒๕๐ กม. จากชายแดนลาว-เวียดนามไปเว้ ๑๖๐ กม. (รวมจากมุกดาหารเพียง ๔๑๐ กม.ก็ถึงเมืองเว้) ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิมองว่า ถ้าพัฒนาให้ดี ภาคอีสานจะมีศักยภาพมาก มุกดาหารเพียงจังหวัดเดียวถ้าทำอย่างถูกต้อง ความมั่งคั่งจากจีน เวียดนาม และลาวก็ไหลทะลักเข้ามา
ไทยควรใช้เส้นทางสายนี้จนชำนาญ จะได้ทราบว่าจะใช้ศักยภาพของเส้นทางสายนี้อย่างไร โดยเฉพาะหลังจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ เมื่อเวียดนามและลาวเข้ามาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์

เส้นทางหมายเลข ๘
ร.ต.อ.นิติภูมิและคณะเคยใช้เส้นทางหมายเลข ๘ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาจนถึงปัจจุบัน จากนครพนมข้ามไปเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ไปจนถึงเมืองหลักซาวระยะทางถึง ๒๓๘ กม. เมื่อเข้าด่านน้ำพาว ของแขวงบอลิคำไซ ก็เตรียมเข้าเวียดนามที่ด่านกาวแตรว อำเภอเฮืองเซิน จังหวัดฮ่าติญ คิดเป็นระยะทาง ๓๓๘ กม.จากริมแม่น้ำโขงไปจนถึงเมืองวิงห์ของเวียดนาม

ร้านอาหารอันต่าย ริมถนนหลักหมายเลข ๑ อำเภอเมือง จังหวัดนิญบิ้ญ อาหารอร่อยแต่มียุงมาก เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสมบูรณ์ร้านนี้จะแพ้ร้านอาหารของคนไทยที่ไปค้าขายในเมืองต่างๆของเวียดนาม [17]

เขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียนกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางรถยนต์
กลุ่มอาเซียน ๑๐ ประเทศ แบ่งออกเป็น กลุ่มประเทศอาเซียนเก่า คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และบรูไน กลุ่มอาเซียนใหม่ มีกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV)

ไทยไม่ใช่ชาติเดียวที่เผชิญกับวิกฤตคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่สถานีโทรทัศน์เวียดนามปล่อยให้ภาพยนตร์เกาหลีเข้าไปมีบทบาท คุณภาพเยาวชนเวียดนามก็ตกต่ำ ในสถานศึกษามีปัญหานักเรียนหญิงตีกันเพื่อแย่งผู้ชาย และเยาวชนเวียดนามคลั่งไคล้วัตถุนิยมกว่าเด็กไทย[18]

กลุ่มอาเซียนเชื่อว่า ร้านค้าเพียงร้านเดียวตลาดจะเล็กไม่มีอำนาจต่อรองกับชาติที่ใหญ่กว่า การรวมกันเป็น ๑๐ ประเทศทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น ๖๐๐ ล้านคน ( ๙% ของประชากรของโลก) จีดีพีจะมีขนาด ๑.๕ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ( ๒% ของจีดีพีโลก)

การรวมตัวกันเป็นตลาดและฐานผลิตเดียวกันมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดตลาดเสรีในส่วนของสินค้าต่างๆ ๗ สาขา ดังนี้
การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ อาหาร/เกษตร/ป่าไม้ และสาขาที่เร่งรัด

กิจการร้านอาหารเข้าข่ายเปิดเสรีสาขาที่เร่งรัด ๑๒ สาขา จะบุกชาติอาเซียนอีก ๙ ประเทศให้ไม่เสียเปรียบและเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น คนไทยจำเป็นต้องเข้าใจ PIS และ non-PIS

Non-PIS คือ สินค้าและบริการที่ไม่เร่งรัดการเปิดเสรี
PIS เป็นสินค้าและบริการที่เร่งรัดการเปิดเสรี มี ๑๒ สาขา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตร ประมง ยานยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ไม้ อิเลกทรอนิกส์ สุขภาพ การบิน โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ การท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ ในพ.ศ.๒๕๕๘ ประเทศอาเซียนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีทางการค้าอย่างสมบูรณ์ได้

เส้นทางหมายเลข ๑๒ เป็นเส้นทางที่จะขนสินค้าและผู้คน ‘จากไทย ไปลาว เข้าเวียดนาม ข้ามไปจีน’ ในวันที่ ๑๑ เดือน ๑๑ ค.ศ. ๒๐๑๑ ตรงกับกำหนดการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ เชื่อมจังหวัดนครพนมกับแขวงคำม่วน ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถที่จะขับรถจากเมืองท่าแขกของแขวงคำม่วนตรงไปถึงหมู่บ้านนาเพ้า เมืองมะหาไซ แขวงคำม่วน ระยะทางเพียง ๑๔๖ กม. เมื่อพ้นด่านนาเพ้าของลาว ก็เข้าเขตด่านจาลอของเวียดนามที่อำเภอจาลอ จังหวัดก้วงบิ้ญ (กว่างบินห์) ถนนสายนี้เหมาะสำหรับขนส่งเพราะมีเส้นทางบนภูเขาสูงน้อย จึงมีรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่วิ่งเป็นระยะๆ จากชายแดนเวียดนามไปถึงเส้นทางหมายเลข ๑ (ทอดยาวเหนือ-ใต้ เชื่อมชายแดนจีน/ เวียดนาม - ชายแดนกัมพูชา/ เวียดนาม) ยาว ๒๕๔ กม. จากริมแม่น้ำโขงฝั่งลาวไปจนถึงถนนหมายเลข ๑ ของเวียดนาม ระยะทาง ๔๐๐ กม. การใช้ถนนหมายเลข ๑๒ ได้เปรียบ เพราะมีช่วงอยู่ในลาวสั้นเพียง ๑๔๖ กม.

ถนนที่จะเชื่อมไปถึงกรุงฮานอยมี ๒ เส้น คือ หมายเลข ๑ และเส้นโฮจิมินห์เทรล(Hochimint Trail) ข้อเสียของถนนหมายเลข ๑ คือ มีเมืองและผู้คนมากแต่ถนนแคบ รถติด วิ่งได้เพียง ๓๐-๔๐ กม./ชม. ส่วนเส้นโฮจิมินห์ เทรล เป็นทางเปลี่ยว สองข้างทางเป็นไร่นาเกษตรกร มีแต่ทุ่งนา สวนกาแฟ พริกไทย ยางพารา ฯลฯ ชาวนาเอาข้าวมากองบนถนนให้รถที่วิ่งไปมานวดข้าวแทนควาย ไม่มีอู่และปั๊มน้ำมัน เสี่ยงหลงทางเพราะป้ายจราจรยังไม่มี [19]

ตอนเหนือสุดของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คือ จังหวัดหลั่งซอน (บางสำเนียงเรียกลานเซิน) มีด่านสำคัญ ๒ ด่านที่ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเข้าไปในสาธารณรัฐประชาชนจีน
-ด่านหู่งี่กวน เป็นด่านให้คนผ่าน ห้ามนำสินค้าและรถยนต์ มีที่พักรถ ภัตตาคาร ร้านค้า และโรงแรม เป็นด่านที่ทันสมัยมาก มีรถไฟฟ้าแบบรถสนามกอล์ฟและรถโดยสารรับ-ส่งคนจากสถานีไปที่ด่านระยะทาง ๕ กม.
-ด่านเตินแทน ห่างออกไปประมาณ ๒๐ กม. เป็นด่านรถยนต์ผ่าน ทางฝั่งเวียดนามมีตลาดใหญ่มีสินค้าจีน ๙๙% คนขายส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่พูดภาษาเหวียตได้บ้าง
ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ สนใจระบบโลจิสติกส์ของเวียดนามและจีน จึงสังเกตเห็นรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่วิ่งขวักไขว่ราวกับเป็นท่าเรือใหญ่ ภูมิประเทศบริเวณนี้มีแต่ภูเขา ถนนเลนเดียวรถวิ่งสวนกัน บางช่วงก็มีรถบรรทุกติดมาก มีหลายช่วงทางการเวียดนามกำลังทะลายภูเขา เพื่อเอามาขยายถนน

แนวคิดเรื่อง “ตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน”ของอาเซียน : การแบ่งงานทำตามภูมิศาสตร์และความชำนาญ
วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยมี “ตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน” สมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศจะแบ่งงานกันทำตามภูมิศาสตร์และความชำนาญ ดังนี้
-กิจการโลจิสติกส์และการขนส่งเป็นของเวียดนาม
-กิจการท่องเที่ยวและการบินเป็นของไทย
-กิจการด้านสุขภาพเป็นของสิงคโปร์
-ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นของฟิลิปปินส์
-ผลิตภัณฑ์เกษตรและประมงเป็นของพม่า
-ผลิตภัณฑ์ยางและสิ่งทอเป็นของมาเลเซีย
-ผลิตภัณฑ์ไม้และยานยนต์เป็นของอินโดนีเซีย

ดร.อัทธิ์ พิศาลวานิชกับร.ต.อ.ดร.นิติภูมิคาดไว้ว่าหลังวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางบกของคนไทยจะปิดกิจการไม่น้อยกว่า ๓๐% ไทยอาจได้เปรียบเวียดนามด้านธุรกิจการขนส่งทางบกอยู่บ้างแต่เสียเปรียบมาเลเซีย ส่วนด้าน โลจิสติกส์ ไทยไม่มีทางสู้สิงคโปร์

การศึกษาเส้นทางจากไทย ไปลาว เข้าเวียดนาม ข้ามไปจีน รตอ.ดร.นิติภูมิใช้ทุนส่วนตัว ส่วนสิงคโปร์กับมาเลเซีย รัฐบาลจ้างบริษัทสำรวจเป็นเรื่องเป็นราวไว้นานแล้ว

รัฐบาลไทยเคยตั้งเป้าจะมีความโดดเด่นเรื่องการส่งออก แต่ไทยไม่มีบริษัทเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ ไม่มีบริษัทคาร์โกที่ขนส่งโดยเครื่องบินโดยเฉพาะ ต่อไปจะเป็นปัญหาของไทย เพราะขณะนี้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทยสูงถึง ๑๘% รัฐบาลมาเลเซียมุ่งลดให้เหลือ ๑๗% สิงคโปร์ ลดเหลือเพียง ๘% เท่านั้น เมื่อเขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียนประกาศใช้โดยสมบูรณ์จะทำให้คนไทยตกงานอีกมากและ โสเภณีอาจจะเต็มประเทศ[20]

รตอ.ดร.นิติภูมิ คาดว่า ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ หลังจากที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีผลครบจบสมบูรณ์ บริษัทเทมาเส็กจะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สุดของสิงคโปร์ในการบันดาลให้สิงคโปร์เป็นชาติมั่งคั่งมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้อีกหลายเท่า รัฐบาลสิงคโปร์มีบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐ Government of Singapore Investment Corporation (GIC) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในประเทศต่างๆ และมีบริษัทเครือข่าย เช่น Temasek Holdings, Temasek Linked Companies (TLCs) ฯลฯ

เทมาเส็กสร้างโดยรัฐบาล มีรัฐมนตรีคลังของสิงคโปร์เป็นเจ้าของในนามรัฐบาล แม้ยังไม่ถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ ทว่าบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ก็เข้ามาซื้อกิจการ หรือ ถือหุ้นอยู่ในบริษัทไทยหลายแห่ง ธนาคารที่เคยเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของไทย เป็นสมบัติของคนไทย มีรายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นของบริษัทรัฐบาลสิงคโปร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารยูโอบี ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ หรือแม้แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เราใช้รับคนไข้จากต่างประเทศที่เราคนไทยภูมิใจกันนักกันหนาอย่าง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ก็เป็นของสิงคโปร์

ทรัพย์สินในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย ฯลฯ ก็มีทุนรัฐบาลสิงคโปร์เข้าไปกว้านซื้อมาเป็นเจ้าของเป็นจำนวนมาก ตอนที่นายลี กวน ยิว เป็นนายกรัฐมนตรี นายลีทำให้สิงคโปร์เป็นทุนนิยมโดยมีรัฐเป็นแกนนำ ไม่ใช่เป็นทุนนิยมแบบประเทศอื่นที่นักลงทุนดำเนินการเองอย่างสะเปะสะปะ แต่สิงคโปร์เป็นทุนนิยมที่มีรัฐเข้าไปมีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจ
จีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ที่มีระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ทว่าถ้าคิดตามความเห็นของผม ผมว่าสิงคโปร์เป็นประเทศเสรีนิยม ที่มีระบอบเศรษฐกิจกระเดียดไปในทางสังคมนิยมหน่อยๆ ที่ผมกล้าเรียนเขียนรับใช้ไปอย่างนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้นำในการสร้างอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการเศรษฐกิจให้ประเทศทั้งนั้น อีกทั้งยังตั้งคณะกรรมการ Statutory Board ดูแลงานด้านต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า อุตสาหกรรมที่รัฐสร้างขึ้นมา จะดำเนินไปในแนวทางที่รัฐกำหนด

บริษัทของสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยใช้เงินทุนของรัฐบาล แถมรัฐบาลยังส่งข้ารัฐการเข้าไปบริหาร คนสิงคโปร์เรียกบริษัทพวกนี้ว่า จีแอลซีเอส (GLCs) รัฐบาลสร้างยุทธศาสตร์ว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์จะต้องเป็นศูนย์กลางการต่อเรือและซ่อมแซมเรือ จึงสนับสนุนเงินและตั้งบริษัทที่เกี่ยวกับการสร้างและการซ่อมแซมเรือ เช่น บริษัทจูร่ง ชิพยาร์ดส์ เคพเพล เซมบาวัง ฯลฯ [21]
โครงการสร้างทางรถไฟจากจีนสู่พม่า ลาวและอินโดจีน

นาย สมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว แถลงข่าวในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เรื่องรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทน์ - หยุนหนานที่ลาวและจีนลงนามพัฒนาร่วมกันเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่กรุงเวียงจันทน์ กำหนดก่อสร้างต้น พ.ศ. ๒๕๕๔ ขณะนี้ จีนเข้าไปสร้างสนามบิน ถนน และการคมนาคมประเภทอื่นในลาวอีกมากมาย ผู้บริหารของประเทศไหนไหวตัวช้าจะพาประชาชนคนทั้งประเทศล้าหลัง ในห้วงช่วงที่จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ฯลฯ ปิดประเทศเพราะปัญหาภายใน ไทยก้าวนำหน้าพวกนี้ไปได้หลายช่วงตัว ความล้าหลังอย่างมาก คือ โรงแรมของไทยน้อยนักที่จะมี wifi หรือมีอินเตอร์เน็ตให้ลูกค้าใช้บริการได้ถึงห้อง แม้แต่ในโรงแรมทันสมัยที่สุดก็ยังต้องลงมาใช้ที่ล็อบบี้ แต่ที่โรงแรมในชนบทจังหวัดต่างๆ ของเวียดนามกลับมี wifi หรือ สายอินเตอร์เน็ตต่อให้ใช้จนถึงห้องนอน และไม่ว่าจะแสนไกลแค่ไหนในเวียดนาม ก็ยังมีโทรศัพท์ ๓ จีใช้

จีนและพม่ายังวางแผนสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากนครคุนหมิงไปยังนครย่างกุ้งของพม่า ความยาวเกินพันกิโลเมตร จะวางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้างใน พ.ศ.๒๕๕๔ รวมทั้งยังจะมีทางรถไฟสายจากกรุงพนมเปญไปยังชายแดนเวียดนาม และจีนจะสร้างรางรถไฟความเร็วสูงอีกสายหนึ่งจากลาวเข้ากัมพูชาด้วย[22]

การขนส่งสินค้าทางอากาศในจีน
จีนต้องการพัฒนาศักยภาพทางการบินเพื่อขนสินค้าออก–เข้าทางอากาศให้เพิ่มจากปีละ 570,000 ตัน เพิ่มเป็น 1 ล้านตัน ให้สามารถขนส่งผู้โดยสารเพิ่มจาก 29.3 ล้านคนในปีนี้ (พ.ศ.2553) เพิ่มเป็น 43 ล้านคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในแผนพัฒนาชาติฉบับที่ 10 ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า จีนจะส่งดาวเทียมเพื่อการสื่อสารขึ้นไปโคจรอีก 35 ดวง [23]

ธุรกิจสายการบินของประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีสายการบินขนาดใหญ่ 3 สายการบินแข่งขันอย่างรุนแรงกับสายการบินต่างประเทศและสายการบินต้นทุนตํ่าที่เข้าไปแย่งตลาด ปัจจุบันจีนเป็นตลาดขนส่งทางอากาศที่เติบโตรวดเร็วมาก ในปี 2549 มีผู้โดยสารใช้บริการทางการบิน 160 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขปี 2548 ที่มีปริมาณ 138.3 ล้านคน เดิมภายหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2492 ประเทศจีนมีเพียงสายการบินเดียวที่ผูกขาดการดำเนินการโดยหน่วยงาน CAAC

บริการขนส่งทางอากาศในประเทศจีนช่วงนั้นจำกัดมาก ธุรกิจการบินในจีนเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อปี 2521 ทำให้ธุรกิจสายการบินเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2531 รัฐบาลแยกธุรกิจการบินของหน่วยงาน CAAC ออกเป็นสายการบินอิสระ 6 สายการบิน ได้แก่ Air China China Eastern Airlines China Southern Airlines China Northwest Airlines China Northern Airlines และ China Southwest Airlines

ต่อมารัฐบาลจีนยกเลิกการผูกขาดธุรกิจสายการบินโดยเปิดให้ก่อตั้งสายการบินใหม่ ทำให้มีผู้ได้รับอนุญาตจำนวนมากทั้งในส่วนที่เป็นรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงทำให้หลายสายการบินประสบปัญหาทางการเงิน คณะรัฐมนตรีของจีนได้มีมติเมื่อต้นปี 2545 เห็นชอบปรับโครงสร้างสายการบินของรัฐบาลกลางจำนวน 9 สายการบิน โดยกำหนดให้ควบกิจการเข้าด้วยกันเพื่อเป็น 3 สายการบิน ขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ดังนี้

-ควบรวมสายการบิน China Southwest Airlines และสายการบิน China National
Aviation Corp เข้ากับสายการบิน Air China
-ควบรวมสายการบิน Northwest Airlines และสายการบิน Yunnan Airlines เข้ากับสายการบิน China Eastern
-ควบรวมสายการบิน China Northern และสายการบิน Xinjiang Airlines เข้ากับสายการบิน China Southern

สำนักข่าว เอเอฟพี(AFP) รายงานว่า
“ สายการบิน Eastern Airlines ของจีนประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 กุมภาพันธ์2553) ว่าได้ควบรวมบริษัทเข้ากับสายการบิน Shanghai Airlines เรียบร้อยแล้ว นับเป็นการควบรวมบริษัทครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทเอกชนในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการบินจีน คิดเป็นมูลค่า 8,900 ล้านหยวน โดย Shanghai Airlines จะใช้ชื่อบริษัทเดิมหลังจากการควบกิจการ แต่การบริการและทรัพยากรของบริษัทจะถูกเปลี่ยนใหม่ Liu Jiangbo ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Eastern Airlines Corporation กล่าวว่า ได้วางแผนจะพัฒนาการบริการ ระบบงานและเปิดตัวแบรนด์ที่จะให้บริการที่สะดวกและผลิตภัณฑ์คุณภาพสำหรับลูกค้า หลังการควบรวมบริษัท Eastern Airlines จะเป็นเจ้าของเครื่องบินโดยสารมากกว่า 330 ลำ และจะขยายเที่ยวบินออกไปอีก 151 จุด นอกจากนี้ Eastern Airlines จะเป็นเจ้าของทุนมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านหยวน”[24]

หลังควบรวมกิจการทำให้สายการบิน Air China ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจอย่างมาก ในปี 2549 มีกำไรถึง 3,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 16,000 ล้านบาท และสายการบินของรัฐบาลกลางจีนทั้ง 3 สายการบินก็กลายเป็นสายการบินขนาดใหญ่โดยมีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 80% ของการขนส่งทางอากาศภายในประเทศ

สายการบิน Air China เป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของจีน มีฐานอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ในปี 2549 ขนส่งผู้โดยสารมากถึง 31.5 ล้านคน มีรายได้ 47,000 ล้านหยวน (235,000 ล้านบาท )และมีกำไรมากถึง 3,200 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 16,000 ล้านบาท เดิม Air China มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท China National Aviation Holding Company จำกัด ถือหุ้น 69% และสายการบินคาเธย์แปซิฟิคของฮ่องกง ถือหุ้น 10% แต่กลางปี 2549 มีการประกาศเป็นพันธมิตรกับสายการบินคาเธย์แปซิฟิค โดยสายการบิน Air China จะเข้าไปถือหุ้น 17.5% ในสายการบินคาเธย์แปซิฟิค ส่วนสายการบินคาเธย์แปซิฟิคได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในสายการบิน Air China จากเดิม 17.5% เพิ่มขึ้นเป็น 20%

ส่วนสายการบิน China Southern ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของจีน หากวัดตามจำนวนเครื่องบินซึ่งมีมากถึง 309 ลำ ก็ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจเช่นเดียวกัน ในปี 2549 ขนส่งผู้โดยสาร 49.2 ล้านคน มีรายได้ 46,000 ล้านหยวน ( 230,000 ล้านบาท) จากเดิมในปี 2548 ขาดทุน 1,850 ล้านหยวน (9,250 ล้านบาท)ปี 2549 กำไร 188 ล้านหยวน(940 ล้านบาท) สายการบินแห่งนี้มีฐานอยู่ที่นครกวางโจวในมณฑลกวางตง ปัจจุบันกำลังขยายฐานจากกวางโจวไปยังปักกิ่งเพื่อแสวงหารายได้เพิ่ม และกำลังสร้างเครือข่ายในระดับโลก โดยกำหนดเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Sky Team Alliance ซึ่งมีสายการบินแอร์ฟรานซ์ เดลต้าแอร์ไลน์และโคเรียนแอร์ไลน์เป็นแกนนำ ตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นไป

สายการบิน China Eastern ซึ่งมีฐานอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้กลับประสบปัญหาขาดทุนในปี 2548 เป็นเงิน 467 ล้านหยวน ( 4,335 ล้านบาท) ในปี 2549 ยังมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ขาดทุนมากถึง 970 ล้านหยวน ( 4,850 ล้านบาท) และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงถึง 10/1

สายการบิน China Eastern พยายามขายหุ้น 20% ให้สายการบินต่างประเทศเพื่อกอบกู้สถานการณ์ และมีข่าวว่าสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สนใจจะเข้ามาถือหุ้น

สายการบิน China Eastern ยังไม่ได้เข้ากลุ่มพันธมิตร แต่มีข่าวว่ากำลังเจรจาเข้าร่วมกลุ่ม One world Alliance ซึ่งประกอบด้วยสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ สายการบินบริติชแอร์เวย์ สายการบินคาร์เธย์แปซิฟิค และสายการบินแจแปนแอร์ไลน์เป็นแกนนำ ขณะเดียวกันสายการบินของจีนได้ปรับปรุงการซ่อมบำรุงเครื่องบินดีขึ้นมาก พร้อมกับปรับเปลี่ยนจากเครื่องบินรัสเซียมาเป็นเครื่องบินโบอิ้งและแอร์บัส ข้อมูลของบริษัทโบอิ้งในช่วงทศวรรษที่ 1980 สายการบินจีนมีแนวโน้มจะเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกมากเป็น 5 เท่าของสายการบินสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงไปอยู่ในระดับความปลอดภัยไม่แตกต่างกัน

การที่ธุรกิจสายการบินของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการบุคลากรเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ปัจจุบันประเทศจีนมีมหาวิทยาลัยการบินพลเรือนนับเป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักบินใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีวิทยาเขตจำนวน 4 แห่ง มีสนามบิน 5 แห่ง และมีเครื่องบินสำหรับฝึกหัดนักบินเป็นจำนวนมากกว่า 100 เครื่อง โดยในปีการศึกษา 2549 มีผู้สำหรับการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ในหลักสูตรนักบินเป็นจำนวนมากถึง 800 คน

บริษัท Alteon เป็นบริษัทลูกของบริษัทโบอิ้ง ก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักบินขึ้นที่คุนหมิง โดยให้บริการฝึกอบรมทั้งนักบินชาวจีนและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัท Alteon ยังร่วมทุนกับบริษัทMil-Com Aerospace ของสิงคโปร์ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมอากาศยานขึ้นที่นครเทียนสิน โดยโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยการบินพลเรือนวิทยาเขตเทียนสิน[25]

ประสบการณ์ที่สนามบินชางฮีของรตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์
๘ ชั่วโมงที่สนามบินชางฮี ความประทับใจประการแรก คือ ที่นี่มีอินเตอร์เน็ตเกือบทุกมุมไม่ว่าจะเป็นอาคาร ๑ ๒ หรือ ๓ กลุ่มละไม่ต่ำกว่า ๓๐-๕๐ เครื่อง สำหรับให้ผู้โดยสารได้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี แต่ละอาคารมีคอมพิวเตอร์เป็นร้อย หรืออาจถึงพันเครื่อง ห้องนอนในเทอร์มินัล ๒ ของสนามบินชางฮี จึงไปนอนที่เทอร์นัล ๓ เวลา ๖ ชั่วโมง เสียค่าที่พักไม่กี่ร้อยบาท ได้นอนเต็มอิ่มในโรงแรมในสนามบินที่มีสภาพเท่ากับโรงแรม ๔-๕ ดาว ในสนามบินมีโรงภาพยนตร์ชั้น ๑ ฉายเวียน ๒๔ ชั่วโมง ผู้โดยสารจำนวนไม่น้อยหลับคาเก้าอี้ภาพยนตร์ มีโรงยิม มีสระว่ายน้ำและสวนผีเสื้อ มีเครื่องนวดเท้าได้ฟรี มีบ่อปลาคาร์พ สวนกล้วยไม้ มุมศิลปวัฒนธรรมโบราณของจีน อินเดีย และมาเลย์ ที่ประทับใจที่สุดและเป็นจุดอ่อนของสนามบินสุวรรณภูมิ คือ อาหารที่สนามบินของไทยราคาแพง แต่ที่สนามบินชางฮี คณะของรตอ. ดร.นิติภูมิ ๓ คน กินอาหารจนอิ่มจ่ายเงินเพียงสิบกว่าดอลลาร์สหรัฐฯ(ไม่น่าเกิน ๕๐๐ บาท) อาหารในสนามบินชั้นหนึ่งของโลกอย่างชางฮีใช้ใบตองห่อ เช่น เป็นข้าวห่อใบตอง อาหารและขนมก็เป็นอาหารพื้นบ้านที่ยังใช้ใบตองห่อ เช่น ขนมจากห่อด้วยใบจากของแท้
ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อมูลต่างๆของรตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ในรายการสารคดีเปิดเลนส์ส่องโลก และ World Beyond เดินทางสร้างชาติ YouTube Facebook Twitter และ ‘ช่องกิจกรรม’ ของเว็บไซต์ www.nitipoom.com [1]
[1] รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์, ชางฮี สนามบินในฝัน คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์, ไทยรัฐ, วันอังคารที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓

สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง การรถไฟฯลาดกระบัง
( Inland Container Depot, ICD. )
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.railway.co.th/ticket/CargoContainer.asp

สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ Inland Container Depot (ICD) คือ สถานที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ พร้อมจะให้บริการแก่ผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและบุคคลทั่วไปในการดำเนินพิธีการเกี่ยวกับสินค้าที่ยังคงอยู่ภายใต้อารักขาของศุลกากรก่อนนำสินค้าส่งออก หรือส่งต่อไปยังประเทศอื่น ๆ หรือ สถานที่ทำกิจกรรมทุกอย่างสินค้าขาเข้า และสินค้าขาออก แทนท่าเรือบก
คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 อนุมัติให้เวนคืนที่ดินในเขตลาดกระบังจำนวน 645 ไร่ เพื่อก่อสร้างสถานีบรรจุและแยก สินค้ากล่องจำนวน 6 สถานี การก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2538 และให้สัมปทานเอกชนประกอบการเปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2538

การอ้างอิง

[1] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, กระทรวงวัฒนธรรมคอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ศุกร์ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๓
[2] รตอ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, มหาอำนาจใหม่ : ชินเดีย, คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก, วันพฤหัสบดีที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐
[3] รตอ.ดร.นิติภูมิ, ประเทศเจ้าปัญหา, คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันพุธที่ ๑๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๑
[4] รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์, Sister Citiesระหว่าง กทม.กับเมืองแต้จิ๋ว(ซานโถว), คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันจันทร์ที่ ๔-๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
[5] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, ต้องหาตลาดใหม่, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔
[6] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, หู จิ่น เทา ไม่ตามกระแส, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗
[7] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, จีนยุคใหม่ในสายตาเนติภูมิฯ , คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันอังคารที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
[7] รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์, มาเก๊าวันนี้ คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก, วันศุกร์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐
[9] จำนวน สองล้าน ทีอียู((TEU) หรือ สองล้านตู้สินค้า (Container) ขนาด 20 ฟุต ดู http://www.railway.co.th/ticket/CargoContainer.asp
[10] ร.ต.อ.ดร นิติภูมิ นวรัตน์, อุทยานอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในเซินเจิ้น, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันพุธที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
[11] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, สวรรค์บนดิน : ลี่เจียง คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันอังคาร ๑๖ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๑
[12] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์,รถไฟสายตงเป่ยลู่เสี้ยน คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันจันทร์ที่ ๑๔ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑
[13] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, อภิมหาอำนาจใหม่แทนที่สหรัฐฯ (1)คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔
[14] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, บทความเรื่องเส้นสายการเดินทางและคมนาคมสายน้ำ คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันที่ ๑๔-๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓
[15] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, ควรสนใจกลุ่มประเทศ GMS, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันศุกร์ ๑๖ เดือนมกราคม ๒๕๕๒,
[16] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, สะพานแห่งที่ ๓ ถนนหมายเลข ๑๒ คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันจันทร์ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[17] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, ขนสินค้าและผู้คนจากไทยไปจีน (๑), คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, อังคาร ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[18] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, สิงคโปร์เตรียมนักบริหารรุ่นใหม่, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ศุกร์ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[19] ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์, จากไทย ไปลาว เข้าเวียดนาม ข้ามไปจีน (๒) คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, พุธ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[20] ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์, จากไทย ไปลาว เข้าเวียดนาม ข้ามไปจีน (๓)คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, พฤหัสบดี ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[21] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, เทมาเส็กจะครอง AEC, พฤหัสบดี ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ อ้างจาก http://www.nitipoom.com/th/article1.asp?idOpenSky=3655&ipagenum=1
[22] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, ไอ้ปื๊ดประเทศของเอ็งล้าหลังแน่, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ,พฤหัสบดี ๙ ธันวาคม ๒๕๕๓
[23] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, อภิมหาอำนาจใหม่แทนที่สหรัฐฯ (1)คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔
[24] http://www.voicetv.co.th/content/ ขอขอคุณอย่างยิ่ง
[25] ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ จับตาธุรกิจสายการบินในประเทศจีน, www.boi.go.th/thai/.../boitoday_may_7_07.pdf -ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น