จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สรุปผลการประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 14 : กฎบัตรอาเซียน

กนกวรรณ ขวัญคง : เรียบเรียง
ชูชาติ เทศสีแดง : บรรณาธิการ

(ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย กรมประชาสัมพันธ์ http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255203030165&tb=N255203)


"กฎบัตรนี้เป็นแค่มาตรา หลักการ แนวทาง กรอบการทำงานซึ่งเป็นเสมือนโครงกระดูกเท่านั้น แต่เราจะต้องทำให้กฎบัตรมีชีวิตขึ้นมา แต่การที่จะทำให้วิสัยทัศน์ ความมุ่งหมายของอาเซียนเดินหน้าและประสบความสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนคนอาเซียน" - ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวเนื่องในโอกาสเข้ารับฟังความเห็นภาคประชาชน 22 กุมภาพันธ์ 2552 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากปิดฉากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 พร้อมกับความสำเร็จของทุกฝ่าย ผลสรุปการประชุมอาเซียนครั้งที่ 14 จึงได้กลายเป็นความสนใจของประชาชนชาวไทยทั่วไป เนื่องจากการประชุมในครั้งนี้ทำให้เกิดข้อตกลงและผลการเจรจาที่มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จึงได้นำประเด็นต่าง ๆ จากผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 มาแจกแจงเพื่อให้เห็นภาพรวมและสร้างความเข้าใจแก่ผู้อ่าน

กฎบัตรอาเซียนคืออะไร?
กฎบัตรอาเซียน ทำหน้าที่เหมือนเป็นธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดของอาเซียน ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำหนดกรอบโครงสร้างองค์กร เป้าหมาย หลักการ และกลไกที่สำคัญต่าง ๆ ภายในอาเซียน ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักในการมีกฎบัตรอาเซียนนั้น คือ

1) เพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามเป้าหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะความพยายามของอาเซียนที่จะรวมตัวกันเป็น “ประชาคม” ภายในปีเป้าหมาย 2558
2) สร้างกลไกที่จะส่งเสริมให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตามความตกลงต่าง ๆ ของอาเซียน
3) ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดและสร้างผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงมากขึ้น

โดยทั้งนี้ได้มีการบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมา ดังนั้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 นี้ จึงเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกหลังจากที่มีกฎบัตรอาเซียน
เนื้อหาแถลงการณ์ของประธานอาเซียน

เนื้อหาของแถลงการณ์ของประธานอาเซียน อันเกี่ยวเนื่องกับกฎบัตรอาเซียน ที่นายกรัฐมนตรีของไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานอาเซียน ได้อ่านในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ซึ่งใช้ชื่อว่า “แถลงการณ์ของประธานในโอกาสการปชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 อำเภอชะอำ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม” ไว้ในข้อที่ 2 – 6 ว่า

2. เราได้ฉลองการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรอาเซียนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 กฎบัตรนี้ได้วางกรอบทางกฎหมายและทางสถาบันสำหรับอาเซียนให้เป็นองค์กรที่มีกฎหมายเป็นพื้นฐาน มีประสิทธิภาพ และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อปูทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 เป้าหมายดังกล่าวของอาเซียนได้ถูกกำหนดอย่างเร่งด่วนเนื่องจากวิกฤตการเงินโลก อาเซียนจำเป็นจะต้องตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อวิกฤตการเงินครั้งนี้เพื่อคงบทบาทหลักในโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระดับภูมิภาค ในการนี้ เราได้มอบหมายให้องค์กรต่าง ๆ ของอาเซียนปฎิบัติตามและบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนโดยสมบูรณ์

3. เรายินดีในผลสำเร็จของการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของเรากับสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียน ซึ่งในระหว่างนั้น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ได้มีขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสภาพบุคคลทางกฎหมายของอาเซียน การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท และประเด็นทางกฎหมายอื่น ๆ ภายใต้กฎบัตรอาเซียน

4. เรายินดีกับความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อเริ่มปฏิบัติหน้าที่แล้ว คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือรหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน ปรับปรุงการประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาค

5. เราชื่นชมความก้าวหน้าของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งได้เสนอร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 เรารับทราบว่าการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาเซียน จะเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชากรเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ เราตกลงว่า องค์กรนี้ควรเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ในช่วยปลายปี 2552

6. เราย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างพอเพียง อันรวมถึงงบประมาณและบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถบรรลุภารกิจและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นตามกฎบัตรอาเซียน
ข้อสังเกต

จากแถลงการณ์ฯ อันเกี่ยวเนื่องกับกฎบัตรอาเซียน จะเห็นได้ว่ามีประเด็นที่สำคัญในกฎบัตรอยู่อย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่

1. การแสดงความยินดีต่อการมีกฎบัตร
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า กฎบัตรอาเซียน ถือเป็นธรรมนูญ หรือกฎหมายสูงสุดในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกรัฐอาเซียน ซึ่งเป็นเครื่องหมายสำคัญ ที่จะแสดงให้นานาชาติทั่วทั้งโลกได้ยอมรับและเห็นถึงศักยภาพความเป็นกลุ่มประเทศที่มีพลวัตในการขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้พ้นจากวิกฤต ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ อาหาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

2. การแสดงความชื่นชมในด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียน
ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียนนั้น ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอกเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาเซียนมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ดังนั้นจึงไม่สามารถยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกได้ จนกระทั่งประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนกลายเป็นประเด็นที่ไม่มีประเทศใดจะกล่าวตำหนิหรือตักเตือนซึ่งกันและกันได้มากนัก ดังนั้นเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงมีเสียงตอบรับทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ด้านหนึ่งก็มีความหวังว่าอาเซียนจะเริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้น ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ยังคงมองว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนนั้นจะยังคงเป็นได้แค่เสือกระดาษ ที่ไม่สามารถจัดการด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยเวลา เพื่อคอยดูพัฒนาการขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ว่าจะหลุดพ้นความเป็นเสือกระดาษดังที่ภาคประชาชนและภาควิชาการปรามาสไว้ได้หรือไม่

3. การย้ำความจำเป็นในการจัดการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินงานของอาเซียนจำเป็นที่จะต้องมีศูนย์กลางเพื่อประสานความร่วมมือซึ่งกันและกัน สำนักเลขาธิการอาเซียนก็เป็นส่วนสำคัญที่จะดำเนินกิจการใด ๆ ในนามของอาเซียน ในขณะที่มีการบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการ ที่เพิ่มอำนาจหน้าที่ของสำนักเลขาธิการอาเซียนในการจัดการภายในอาเซียน ก็ถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับชาวไทย ที่ตัวแทนชาวไทย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการอาเซียน ในยุคผลัดเปลี่ยนสู่ความเป็นรูปธรรมของอาเซียน ดังนั้นในขณะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียน และเลขาธิการอาเซียนยังคงเป็นคนไทย จึงมีโอกาสที่ประเทศไทยจะผลักดันประเด็นต่าง ๆ อันจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของอาเซียนได้อย่างเต็มที่ การย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียนนั้น ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ต่อชาวไทยเท่านั้น หากแต่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกอาเซียนในทุก ๆ รัฐ ซึ่งจะเอื้อผลประโยชน์ต่อกันในภายภาคหน้า ในฐานะประชาคมอาเซียนด้วย

กฎบัตรอาเซียนนั้น แม้จะเป็นตัวหนังสือที่เขียนลงบนกระดาษ ทว่ากลับเปี่ยมไปด้วยพลังและเต็มไปด้วยความหมาย อันส่งผลประโยชน์มหาศาลต่อสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะภาคประชาชน ที่กฎบัตรอาเซียนได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า จะต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการเผยแพร่ให้ประชาชนชาวอาเซียนได้รับทราบถึงสิทธิ หน้าที และประโยชน์ที่ตนเองจะได้จากกฎบัตรอาเซียน และความเป็นประชาคมอาเซียนจึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ที่กลายเป็นความท้าทายสำหรับรัฐสมาชิกอาเซียนในทุกรัฐที่จะต้องทำให้ได้ เพื่อให้กฎบัตรอาเซียนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น