จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข่าวเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 เอฟทีเอไทย-จีน ทำเชียงรายทรุด

รายงานโดย องอาจ เดชา
เว็บข่าวประชาไท.คอม วันที่ 19/10/2004
"หรือ ว่าวัตถุประสงค์ของจีน คือ การเอาสินค้าจีนมาสวมใส่เสื้อม่อฮ่อม ก่อนจะนำไปขายยังที่อื่น สุดท้ายถามว่า…ใครได้ใครเสีย ใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน!?…" นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานหอการค้าฝ่ายชายแดน จ.เชียงราย กล่าวแสดงความรู้สึก ในการสัมมนาเรื่อง"มิติใหม่การค้าการลงทุนตามแนวชายแดนภาคเหนือ" ที่ รร.ดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท เชียงราย เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2548
หลังจากมีการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน ตั้งแต่เดือน ต.ค.2546 เป็นต้นมา มีการลดอัตราภาษีสินค้าประเภทพืชผักและผลไม้ จำนวน 116 รายการ ทำให้สินค้าไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร คือ หอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม ทั้ง 3 รายการ ได้ถูกนำเข้าจากจีนมาจำหน่ายในไทยเป็นจำนวนมากและราคาถูก ทำให้การค้าตามแนวชายแดนเชียงรายได้รับผลกระทบอย่างมาก
นายกิจชัย แต้เต็มวงศ์ รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน เปิดเผยว่า หลังจากเปิดการค้าเสรีไทย-จีน ที่ผ่านมา พบว่า การค้าชายแดนด้านเชียงรายไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลย แต่กลับได้รับผลกระทบเสียอีก เหตุเพราะระบบขั้นตอนที่รองรับ FTA ผักและผลไม้ของไทยยังคงไม่เอื้ออำนวย โดยต้องเสียเวลาไปตรวจคุณภาพของสินค้าที่จะส่งออกที่ จ.เชียงใหม่ และเมื่อส่งออกไปจีน ยังพบกับขั้นตอนการตรวจสอบอย่างเข้มงวด รวมทั้งเสียภาษีท้องถิ่นในจีนอีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การส่งออกสินค้าจากเชียงรายไปจีนตอนใต้ ระยะทางเรือในแม่น้ำโขงเพียงประมาณ 334 กม. ใช้เวลานานถึง 4 วันดังนั้น วิธีการหลบเลี่ยงขั้นตอน โดยการนำสินค้าไทย ไปแปลงเป็นสินค้าพม่า และสปป.ลาว เพื่อส่งเข้าไปในจีน ในนาม 2 ประเทศดังกล่าวนั้น ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะเสียภาษีนำเข้าของจีนแทนการลดภาษี 0% ใน FTA แต่นักธุรกิจก็ยอมเสีย เพราะเมื่อคำนวณต้นทุนจากขั้นตอนดังกล่าว พบว่า ยังถูกกว่าเสียอีก
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า นักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุน หลังจากมีการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน ได้เข้ามามีบทบาทในภาคเหนือของไทยเป็นอย่างมาก มีการเข้ามาตั้งกิจการรับซื้อสินค้า FTA ในฝั่งไทย และนำส่งไปขายในจีนเอง โดยมีการจัดตั้งบริษัทตัวแทนหรือชิปปิ้งในไทย ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตามตลาดใหญ่ๆ ของไทย เหตุผลก็เพื่อการลดต้นทุนในการว่าจ้างคนไทย ทั้งนี้ ได้ใช้วิธีการเข้ามาแต่งงานกับหญิงไทย ลักษณะคล้ายมาเพียงกระเป๋าเงินแค่ใบเดียว แต่มีกิจการการค้าเสรีแบบครบวงจร จึงมีการวิเคราะห์กันว่า FTA จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ใช่ประเทศไทย-จีน เท่านั้น ที่ทำข้อตกลงจีน-อาเซียน อีก 10 ประเทศ โดยมีการทำข้อตกลงกันเมื่อเดือน พ.ย.2545 ว่าจะลดภาษีสินค้าเกษตรและผลไม้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นไป โดยจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จากภาษี 40% เหลือ 20% และจะเหลือ 0% อย่างสมบูรณ์ในปี 2553
ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีเงื่อนไขเรื่องเวลาแตกต่างกัน เพราะบางประเทศยังไม่พร้อมจะใช้ FTA เต็มอัตรา แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องให้เหลืออัตราภาษี 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค.2549 เป็นต้นไปก่อนที่ประเทศอื่นๆ โดยจะลดภาษีในสินค้า จำนวน 365 รายการ
นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าคณะเจรจาการค้าเสรีไทย-จีน กล่าวว่า ก่อนเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-จีน รู้ดีว่าควรจะเตรียมรับอย่างไร จีนเขามีการจ้างที่ปรึกษาจากประเทศออสเตรเลีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไปเป็นที่ปรึกษา ซึ่ง FTA ที่ทำกันในจีนจะเน้นการส่งออกและนำเข้าที่ท่าเรือคลองเตยและท่าเรือแหลม ฉะบังของไทย" ดังนั้น จึงเชื่อว่า การค้าเสรีไทย-จีน จะไม่ทำให้การค้าที่ชายแดนเชียงรายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จึงอยากให้ทุกฝ่ายเตรียมรับ FTA จีน-อาเซียนให้ดี เพราะเชียงรายมีความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างจีนกับชาติอื่นๆ ด้วย" นายสมพล กล่าว

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“Asean Plus 3 กับการขนส่งและการท่องเที่ยว”

เอกสารประกอบการสอนวิชาธุรกิจการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว

รวบรวมโดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลที่ทรงคุณค่าดังต่อไปนี้
วัฒนธรรมไทยกับโอกาสทางธุรกิจ
สถานทูตไทยในเยอรมนีกับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ เมืองแฟรงค์เฟิร์ตร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ไทยเฟสติวัล2008” ที่สวนสาธารณะคัวร์ปาร์ค เมืองบาด ฮอมบวร์ก ซึ่งจะจัดทุกๆ1ปีจากที่เคยจัดทุก2ปี เมืองบาด ฮอมบวร์ก (Bad Homburg) เป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทาน "ศาลาไทย" หรือที่คนเยอรมันรู้จักในชื่อ Der Siamesische Tempel เมื่อพ.ศ. 2450 เมื่อครั้งทรงเสด็จฯมาประทับพักฟื้นพระอาการประชวร คำบรรยายในพิธีมอบศาลาไทย วันที่ 22 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2457 แสดงให้เห็นถึงความน่าหลงใหลของสถาปัตยกรรมแบบตะวันออกกลางสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า "สง่างามและงดงาม ตามรูปแบบเฉพาะ ศาลาอันสวยงามแห่งนี้ ตั้งเด่นอยู่เบื้องหน้าเรา เหมือนดั่งเทพนิยายจากดินแดนอันห่างไกล สีสันอันสว่างไสวทำให้ดูโดดเด่น จากต้นไม้สีเขียวที่รายรอบ และเมื่อการตกแต่งประดับประดาที่เต็มไปด้วยสีทอง ต้องแสงอาทิตย์ ก็สะท้อนเกิดเป็นประกายระยิบระยับ ชวนหลงใหล เหมือนดั่งว่า ความรุ่งโรจน์และตำนานแห่งความมั่งคั่ง แห่งดินแดนตะวันออกอันไกลโพ้น ได้ประจักษ์แจ้งอยู่เบื้องหน้า แก่สายตาเราแล้ว"

สวนสาธารณะในเมืองบาด ฮอมบวร์กมีศาลาไทยที่ผู้สูงอายุไปร้องเพลงเต้นรำสนุกสนานกันเคยมาเมืองไทย ชอบเมืองไทย อาหารไทย วัฒนธรรมไทยและมีความประทับใจ ในเมืองบาด ฮอมบวร์ก (Bad Homburg) มีคนยืนต่อคิวซื้ออาหารไทยที่ร้าน Thai Express ของชาวยิวซึ่งมียอดขายเดือนละนับล้านบาท พ่อครัวแม่ครัวเป็นคนไทยได้เงินเดือนละประมาณ ๗ หมื่นบาท ในเยอรมนีไม่มีอาหารชาติใดเด่นเท่าอาหารไทย จึงประชาสัมพันธ์เช่นเดียวกับการวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์

จังหวัดท่องเที่ยวของไทยไม่ค่อยมีการจัดงานแสดงทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมควรส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวในร้านอาหารไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายจังหวัดที่นักท่องเที่ยวอยากไปพักแต่กลางคืนไม่มีอะไรให้ชมจึงมักไปเที่ยวพัทยา สมุย ภูเก็ต ฯลฯ[1] แทน

การปรับตัวของธุรกิจการก่อสร้างสาธารณูปโภคกับเครือข่ายการขนส่งผู้โดยสารในจีนและอินเดีย
ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2559 จะไม่มีภูมิภาคไหนกลุ่มประเทศใดมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมากกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดียรวมกัน(Chindia) เศรษฐกิจจีนและอินเดียจะเติบโตปีละ 8-10% ประเทศอินเดียมีเศรษฐี 10-15% ของประชากร มีชนชั้นกลางหลายร้อยล้านคน คนเหล่านี้มีพลังในการใช้เงินสูงเพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก ในพ.ศ.2549 การลงทุนของอินเดียมีสัดส่วน 27% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) การบริโภคภายในประเทศของอินเดียมีตัวเลขสูง 60% ของจีดีพี ถ้าสูงติดต่อกันอีก10 ปี และมีการปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ดีขึ้น สหรัฐอเมริกาก็สู้อินเดียไม่ได้ เมื่อประเทศทั้งสองจำเป็นต้องก่อสร้างถนน สะพาน ท่าเรือ สนามบิน และ ฯลฯ บริษัทก่อสร้างของไทยควรรีบไปสร้างความสัมพันธ์เพื่อจะได้รับโอกาสไปธุรกิจข้างต้น

การเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์และเตือนภัยในหลายเว็บไซต์ ส่วนตลาดในแอฟริกา เอเชียกลาง และยุโรปตะวันออกซึ่งเคยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ผลิตสินค้าไทยได้ก็ถูกสินค้าจีนเข้าไปวางขายจนไม่มีที่ว่าง เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวก็ขายสินค้าไม่ได้ ไม่มีเงินเข้าประเทศ เมื่อไม่มีเงินการสร้างงานก็ไม่เกิดขึ้น เงินก็ไม่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ บริษัทก่อสร้างทั้งหลายจึงต้องหาทางรีบไปทำธุรกิจใน “ชินเดีย” [2]

ระบบการศึกษาสมัยโบราณของจีนใช้วิธีการสอบเริ่มตั้งแต่ ซิ่วไฉ ปั้งงั่ง (ถั้มไฉ) และจอหงวน การเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศจีนเป็นเรื่องยากมาก แต่ละปีจะมีนักเรียนมัธยมปลายหาที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ไม่เกิน ๕ ล้านคน หากพ่อแม่มีฐานะดีก็จะส่งลูกไปเรียนในประเทศตะวันตก พวกที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับกลางจะส่งลูกมาที่ไทย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเพียงแห่งเดียวมีนักศึกษาจีนเกือบจะหนึ่งพันคน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี ฯลฯ ก็มีนักศึกษาจีน ส่วนนักศึกษาจีนมุสลิมจากมณฑลหยุนหนานก็ไปเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ คน

ขณะที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในไทยระหว่างพ.ศ.2551-2553 สถานีวิทยุโทรทัศน์จีนมักนำภาพที่ประชาชนทำร้ายกันเองมาถ่ายทอดซ้ำๆ จนพ่อแม่ของนักศึกษาจีนในไทยต่างก็พากันตกใจและโทรศัพท์เข้ามาที่สถานกงสุลจีนว่าจะย้ายลูกไปเรียนที่อื่นเมื่อนักศึกษาจีนอธิบายให้ฟังก็เข้าใจ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มีใครไปอธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยกเลิกการเดินทางกว่า ๗๐% จนต้องงดบินเที่ยวบินคุนหมิง-กรุงเทพฯ

พ่อค้าอัญมณีไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการถูกพ่อค้าจีนและอินเดียแย่งตลาดพลอย มากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ จากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบางคนสั่งให้ตำรวจจับพ่อค้าอัญมณีผิวดำ แต่จีนและอินเดียกลับเชิญให้เอาพลอยดิบไปขาย ทำให้วงการอัญมณีไทยสูญไปปีละกว่าแสนล้าน

ปัจจุบัน จีนมีมาตรการหลายด้านกดดันสินค้าไทย เช่น ด้านสุขอนามัย ตอนค้าขายกันแรกๆ ภาษีก็คิดแพง เมื่อมีเขตการค้าเสรี(Free Trade Area: FTA) ไม่มีภาษีสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน แต่พอสินค้าเกษตรไทยไปถึงจีน กลับโดนกักตรวจครั้งละ 2-3 วันทำให้สินค้าเสียหายนำออกไปขายไม่ทัน สัญญา FTA ระหว่างไทยกับจีนระบุว่า สินค้าจีนมาไทย ภาษีเหลือ 0 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มี แต่พอสินค้าเกษตรไทยไปจีน ภาษีศุลกากรเป็น 0 ก็จริงอยู่ แต่โดนภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% [3]

ย้อนรอยบ้านพี่เมืองน้อง(Sister Cities)กรุงเทพฯกับเมืองแต้จิ๋ว(ซานโถว)
กรุงเทพมหานครมีความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้อง( Sister Cities) กับเมืองต่างๆ 11 เมือง คือ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (สหรัฐฯ) กรุงปักกิ่ง (จีน) กรุงบูดาเปสต์ (ฮังการี) นครบริสเบน (ออสเตรเลีย) กรุงมอสโก (รัสเซีย) นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (รัสเซีย) กรุงมะนิลา (ฟิลิปปินส์) กรุงจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) กรุงฮานอย (เวียดนาม) กรุงเวียงจันทน์ (ลาว) และกรุงอัสทานา (คาซัคสถาน)

คนจีนส่วนใหญ่อพยพออกไปจาก 2 มณฑล คือ มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ซึ่งมีทั้งจีนกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ แคะ (ฮากกาหรือเคอะ) และแต้จิ๋ว พวกเขาถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากเจ้าของพื้นที่และเจ้าอาณานิคม แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเปิดประเทศค้าขายกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน อิหร่าน หรือฮอลันดา ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ค้าขายได้เสรี ชาวจีนโพ้นทะเลในฟิลิปปินส์ย่านปาลีอันกลับถูกสเปนฆ่าตายมากกว่า 23,000 คน ต่อมาอีก 36 ปี ก็ขับไล่ชาวจีนจากเกาะลูซอน ทำให้คนจีนตายถึง 24,000 คน เมื่ออังกฤษยึดมะนิลาได้ในพ.ศ. 2305 ทำให้ชาวจีนมีอิสระขึ้น แต่อีก 2 ปี อังกฤษก็มอบเอกราชคืนแก่สเปน คนจีนในฟิลิปปินส์ก็ถูกจับแขวนคอตายหลายหมื่นคน

ชาวจีนโพ้นทะเลจากตอนใต้ของจีนที่อพยพไปเกาะชวาเผชิญกับความโหดร้ายมากกว่าชาวจีนที่ไปฟิลิปปินส์ เพราะชาวดัตช์ให้สภาตรากฎหมาย “ล่าจีนฟรี” ทำให้มีกรณี “ปัตตาเวียพิโรธ” ฆ่าคนจีนตายอีกหลายหมื่นคน ในมาเลเซียคนจีนถูกฆ่ามากกว่าประเทศใดจากการปะทะกับอังกฤษปและชาวพื้นเมืองมาเลย์กีดกันจีน

คนจีนจากกว่างตง อพยพไปเกาะฮ่องกงและมาเก๊า 6 ล้านคน มาไทย 4 ล้านคน ไปเวียดนาม 1.8 ล้านคน ไปสหรัฐฯ 1 ล้านคน ไปฟิลิปปินส์ 6 แสนคน ไปแคนาดา 5 แสนคน และไปออสเตรเลีย 5 แสนคน พวกที่มาจากมณฑลฟุเจี้ยนส่วนใหญ่แล่นไปขึ้นท่าเรือของมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ชาวจีนโพ้นทะเลถูกเรียกว่า “หัวเฉียว”

ปลายสมัยอยุธยามีคนจีนเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อจีนไหฮองสมรสกับนางเอี้ยงหญิงไทยแล้ว ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผูกขาดเป็นนายอากรบ่อนการพนัน มีฐานันดรศักดิ์ว่า “ขุนพัฒน์” สร้างบ้านตรงข้ามกับเจ้าพระยาจักรีที่สมุหนายกใกล้กำแพงกรุงศรีอยุธยา ขุนพัฒน์มีบุตรชาย ต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในสมัยธนบุรี พ่อค้าจีนนำสำเภาเข้ามาขายอาวุธซึ่งรับมาจากพ่อค้าตะวันตกและสินค้าอื่นๆ อีกหลายประเภท ชาวจีนอพยพมามากกว่าชาวต่างชาติชาติอื่นๆ เพราะมณฑลกว่างตงมีที่ดินทำไร่นาเรือกสวนน้อย บางท้องที่มีที่ราบแต่กันดาร น้ำทะเลท่วมจนดินเสื่อม และตอนหลังยังมีการรบระหว่างพรรคกั๋วมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์

คนจีนอพยพมาไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1(พ..ศ.2461-2464) ถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา(พ.ศ.2484-2489) ส่วนใหญ่มาจากตอนใต้ คือ มณฑลกว่างตง เรือจากท่าเมืองซานโถว หรือซัวเถา จึงเต็มไปด้วยผู้คนที่มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบหนีจากซานโถวสื้อ หรือ นครซานโถว เฉาโจวสื้อ หรือ นครเฉาโจว เฉาอานเสี้ยน หรือ อำเภอเฉาอาน บางส่วนมาจากหราวผิง ฮุ่ยไหล ผู่หนิงและเหมยเสี้ยน(อำเภอเหมย) ซึ่งมักเป็นจีนแคะ (ภาษาจีนกลางเรียกว่า เคอะ) พวกที่ล่องมาขึ้นที่ท่าน้ำราชวงศ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พวกคนจีนโดยโปรดเกล้าฯให้สร้างถนนเยาวราช เมื่อ พ.ศ. 2434 ต่อมาก็เสด็จฯ เปิดโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ เมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2448 มีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “พวกจีนทั้งหลายซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงสยามนี้ ย่อมมาทำการให้เป็นความเจริญแก่แผ่นดินของเราเป็นอันมาก เพราะเหตุฉะนั้น พวกจีนจึงได้รับความปกครองทะนุบำรุงด้วยความเอื้อเฟื้อเสมอเหมือนอย่างคนไทย ความสนิทสนมในระหว่างพวกจีนกับราษฎรของเรา ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิได้ถือว่าเป็นคนมาแต่ต่างประเทศ”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. บินไปลงนามกับผู้บริหารเมืองเฉาโจว (หรือเมืองแต้จิ๋ว) มีการลงนาม 2 ฉบับ คือ MOU ความสัมพันธ์ลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง และข้อตกลงความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว คนแต้จิ๋วในไทยมีมากกว่า 4 ล้านคน และ 80% อยู่ในกรุงเทพฯ [4]

รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ระบุว่า ในอนาคตอันใกล้มหาอำนาจโลกจะประกอบด้วย จีน สหรัฐฯอินเดียและเยอรมนี การเติบโตของจีนอยู่ภายใต้ปัจจัยที่ว่า “รัฐบาลจีนวางเป้าหมายว่าอีก 6 ปีข้างหน้า หากทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ในปี พ.ศ. 2553 จีนมีGDP 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และในพ.ศ. 2556 เศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าประเทศเยอรมนี ขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก พ.ศ. 2568 จีนจะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็น มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และ พ.ศ. 2592 จีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก” ในปี 2547 จีนส่งออกสินค้าเป็นมูลค่า 593,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประมาณ 24.3 ล้านล้านบาท ยังไม่นับการบริโภคภายในประเทศ เกินดุลการค้า 32,000 ล้านดอลลาร์

แม้จะประกาศสนับสนุนระบบการค้าเสรี แต่กระแสต้านจีนในสหรัฐอเมริกาแรงมาก โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติด้วยคะแนน 333-92 เสียง ห้ามรัฐบาลอนุมัติให้บริษัทซีนุกของจีนซื้อบริษัทน้ำมันยูโนแคล ทั้งๆ ที่เสนอซื้อในราคา 18,500 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่บริษัทเชฟรอนเสนอซื้อเพียง 16,000 ล้านดอลลาร์

รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ กล่าวยกย่องการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและกรมส่งเสริมการส่งออกที่มุ่งจัดแสดงสินค้า แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวและเปิดตลาดท่องเที่ยว เมื่อสังคมโลกจับตามองจีน กรมส่งเสริมการส่งออกก็ร่วมมือกับเมืองซ่านโถว(ซัวเถา)และสายการบินไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ของจีน จัดงานแสดงสินค้าไทย 2001 ที่เมืองซัวเถา ระหว่างวันที่ 20–24 ต.ค. 44 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าไทยเรียนรู้ลู่ทางการค้าและเผยแพร่สินค้าไทยให้ผู้บริโภคชาวจีนรู้จักมากขึ้น[5]

การเข้าใจวัฒนธรรมจีนและชนชาติต่างๆมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง จีนรุ่น1 หมายถึง ยุคของเหมา เจ๋อ ตง จีนรุ่น 2 คือ ยุคของเติ้ง เสี่ยว ผิง จีนรุ่น 3 คือ รุ่นของเจียง เจ๋อ หมิน ปัจจุบัน จีนอยู่ในรุ่น 4 คือ ยุคของหู จิ่น เทา ยุคของเหมา เจ๋อ ตง คนจีนใฝ่ฝัน “สี่สิ่ง” มีรถจักรยาน วิทยุ นาฬิกาและจักรเย็บผ้า สมัยปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยว ผิง สตรีจีนปรารถนาบุรุษจีนผู้มีครบ “สามสูง” คือ เงินเดือนสูง การศึกษาสูง และสูงเกิน 5 ฟุต 6 นิ้ว ประธานาธิบดีหูจิ่นเทามีครบ“สามสูง” [6] นักศึกษาไทยที่ไปเรียนในประเทศมองว่า ปัจจุบันหนุ่มสาวจีนยึดวัตถุนิยมมากขึ้น คนจีนยุคใหม่ต้องมีตัวอักษร C ให้ครบ 7 ตัวคือ Coke คนจีนนิยมดื่มโค้กมากกว่าน้ำชา ใครจะจีบสาวจีนต้องทำตัวทันสมัยดื่มโค้กเป็นประจำ Credit Card คนจีนสมัยใหม่พกบัตรเครดิตแทนเงินสด Car ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนสูงถึงปีละ 5 ล้านคัน ไม่มีรถยนต์ สาวจีนก็ไม่มอง Condominium หนุ่มสาวจีนต้องมีคอนโดมิเนียมหรูหรา Communication คือ การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เสมอ Club คนจีนยุคใหม่ต้องเป็นสมาชิกสโมสรเพื่อการออกกำลังกาย และ Condom ที่มาแรงในคนรุ่นใหม่ [7]

การพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวของจีนที่มาเก๊า
มาเก๊า( Macao Special Administrative Region- MSAR) มีพลเมือง 4.8 แสนคน แต่มีนักท่องเที่ยวถึง 2.6 ล้านคน พ.ศ.2548 มาเก๊าเป็นเขตบริหารพิเศษ 1ใน 2 แห่งของจีน คือ ฮ่องกงกับมาเก๊า ผู้บริหารสูงสุด คือ Chief Executive การท่องเที่ยวทำให้มาเก๊ามีเงินทุนในคลังสูงถึง 6.3 หมื่นล้านปาตาคา ( 7.88 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากถึง 5.03 หมื่นล้านปาตาคา( 6.29 พันล้านดอลลาร์)

ผู้บริหารมาเก๊ามีนโยบายทำให้ท่องเที่ยวเติบโต ในพ.ศ.2548 ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มร้อยละ 16 มากกว่ายุคผู้บริหารชุดพ.ศ.2543 ถึงร้อยละ 88 นักธุรกิจโรงแรมมีรายได้มากขึ้นร้อยละเกือบ 20

พ.ศ.2547 รัฐบาลมาเก๊าเก็บภาษีจากกาสิโน 528 พันล้านดอลลาร์ ปีพ.ศ.2548 เก็บภาษีได้ 575 พันล้านดอลลาร์ รายได้จากภาษีมากทำให้รัฐบาลมาเก๊าสามารถพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวด้านอื่นพร้อมกันไปเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ได้แก่ พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์จากการที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส ทำให้มีสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างต่างๆ แบบโปรตุเกสโบราณและแบบผสมระหว่างโปรตุเกสกับจีน

โครงการ “ความร่วมมือแห่งแม่นํ้าจูเจียง” เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การเงิน และอุตสาหกรรม สมาชิกของโครงการนี้มีทั้งมณฑลกว่างตง มณฑลฝู-เจี้ยน มณฑลซื่อฉวน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลยูนนาน มณฑลไหหนาน มณฑลเจียงซี เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ฮ่องกง และมาเก๊า มาเก๊าเป็นผู้ส่งสินค้าเข้าไปขายในจีนและนำสินค้าจากมณฑลด้านในออกมาขาย พ.ศ.2550 เป็นปีที่ 8 ที่มาเก๊ากลับมาสู่อ้อมกอดการปกครองของจีน[8]
การขนส่งทางเรือของจีนที่เซินเจิ้น

เซินเจิ้นเดิมเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ทางใต้สุดของมณฑลกว่างตง เซินเจิ้นเป็นเมืองเดียวที่มีเขตแดนติดกับฮ่องกง รัฐบาลจีนตั้งเซินเจิ้นเป็นเมืองพ.ศ.2522 ขณะนั้นมีประชากร 20,000 คน ในพ.ศ.2523 เซินเจิ้นได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 4 ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ(แปรรูปเพื่อการส่งออก)แห่งแรกของจีน มีพื้นที่รวม 391 ตารางกิโลเมตร ในปีพ.ศ.2550 เซินเจิ้นมีพลเมืองสี่ล้านคน นอกจากจะมีตึกสูงเพิ่มขึ้นจำนวนมากแล้ว ยังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก เฉลี่ยปีละ 20% โดยร้อยละ 25 ของครัวเรือนจะมีรถยนต์ 1 คัน เป็นสัดส่วนสูงกว่าปักกิ่ง 3 เท่า เซินเจิ้นประสบความสำเร็จมากที่สุดในเขตเศรษฐกิจทั้งหมดของจีน บริษัทชั้นนำ 100 แห่ง จาก 500 อันดับแรกของโลก ต่างไปลงทุนที่เซินเจิ้น ทำให้เมืองขยายตัวกว่าเดิม 3 เท่า

สิ่งที่ทำให้เซินเจิ้นประสบความสำเร็จ คือ การขนส่งทางน้ำ เซินเจิ้นมีท่าเรือขนาดใหญ่ 8 แห่ง เป็นท่าเรือตู้สินค้าใหญ่อันดับ 4 รองจากฮ่องกง สิงคโปร์และเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือเหนียนเทียนแห่งเดียวสามารถรองรับการจัดเก็บเรือตู้สินค้าได้มากถึง 2 ล้านทีอียู[9] ปัจจุบันรัฐบาลกลางอนุมัติการก่อสร้างท่าเทียบเรือตู้สินค้าเพิ่มอีก 4 แห่ง

การจะให้ประเทศเจริญต้องใส่ใจโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ทั้งทางรถไฟ รถขนส่งในเมือง การขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ สนามบินสุวรรณภูมิไม่อาจเทียบกับสนามบินป่าวอันของเซินเจิ้นได้เลย สิ่งทำให้เซินเจิ้นพัฒนาเร็วกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น คือ การลงทุนในงบประมาณทางการศึกษา วิจัยและพัฒนา งบการศึกษาของเซินเจิ้นสูงมาก ส่วนงบวิจัยและพัฒนา คิดเป็นเงิน 3% ของจีดีพีเมือง คือ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 2.5 แสนล้านบาท) [10]

ธุรกิจการขนส่งกับการท่องเที่ยวที่มณฑลหยุนหนาน
จีนเริ่มเปิดการท่องเที่ยวครั้งแรกที่มณฑลหยุนหนาน เพราะมีทรัพยากรป่าดึกดำบรรพ์ หุบเขา และถ้ำหินสวยงามมากมาย เมืองต้าลี่เป็นแค้วนโบราณที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ถัง มณฑลหยุนหนานมีขนาดใหญ่อันดับ 8 ของจีน พื้นที่เกือบ 4 แสนตารางกิโลเมตร มีภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบสูง 93% จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ พืชสมุนไพรของจีนส่วนมากได้จากมณฑลนี้ หยุนหนานยังมีสัตว์ป่า 1,658 ชนิด เช่น ลิงสีทอง นกยูงเผือก หมีแพนด้า ชะนีสีสวาด ฯลฯ จึงถูกเรียกเป็นอาณาจักรแห่งพืช สัตว์และ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต”

การค้าขายของคนไทยที่หยุนหนานมีไม่ถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้อยกว่าพม่า ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ค่าเล่าเรียนถูก ค่าครองชีพต่ำ ระยะทางไม่ไกล เดินทางได้ทั้งเครื่องบิน รถและแล่นเรือไปในลำน้ำโขง แต่มีนักเรียนไทยน้อย ทำให้ประเทศไทยขาดบุคลากรที่ชำนาญภาษาจีน และคุ้นเคยธรรมชาติการค้าขายในมณฑลหยุนหนาน ไม่เหมือนสิงคโปร์และมาเลเซีย ผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์แบบพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เน้นโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจหรือโครงการอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง

เส้นทางรถยนต์ไปหยุนหนานยังใช้ขนสินค้าทรัพยากรและวัตถุดิบไป-กลับลำบาก ต้องทางอาศัยรถไฟกับทางเรือ หากการสร้างทางรถไฟสายหยุนหนาน-ไทย จากหนองคายข้ามไปเวียงจันทน์ เชื่อมหลวงพระบาง สุดพรมแดนลาวที่บ่อเต็น เข้าจีนไปที่เมืองลาสิ้นสุดที่เชียงรุ่งสำเร็จลงได้ ไทยจะได้ประโยชน์มหาศาล

เมื่อเข้ามณฑลหยุนหนาน จะมีทางรถไฟต่อไปมณฑลอื่นๆ ได้แก่ สายคุนหมิง-กุ้ยหลินเชื่อมเส้นทางไปถึงปักกิ่งกับช่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) จากมณฑลหยุนหนานไปเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีสายคุนหมิง-หนานหนิง หากจะไปเวียดนามก็มีสายคุนหมิง-ไฮฟอง ทางรถไฟที่ไปท่าเรือไฮฟองมีรางแคบแค่ 1 เมตร และต้องไต่ขึ้นเขาสูง เข้าถ้ำ เลียบเหว ระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร คนจีนกล่าวว่า นั่งเกวียนไปยังเร็วกว่านั่งรถไฟสายคุนหมิง-ไฮฟอง

การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เมืองโบราณลี่เจียงในจีน
นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างประเทศเบียดเสียดกันในเมืองโบราณลี่เจียง ด้วยบรรยากาศการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งและได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก หน้าบ้านในเมืองโบราณลี่เจียงมีลำธารไหลผ่านทุกหลัง ผู้บริหารของเมืองลี่เจียงจึงให้มีการลอยกระทงทุกคืน เป็นการสร้างทรัพยากรการท่องเที่ยวทางประเพณี ใครต้องการอธิษฐานให้สมหวัง หรือให้สมาชิกครอบครัวโชคดีมีความสุขก็ไปลอยกระทง ลำธารที่ไหลวกไปเวียนมาเหมือนเปียถักจากเทือกเขาหิมะมาถึงหน้าบ้านยามราตรีซึ่งมีกระทงของนักท่องเที่ยวลอยน้ำไปอย่างสวยงามน่าประทับใจ ผู้บริหารเมืองลี่เจียงได้ปล่อยปลาหลายร้อยชนิดลงไปในลำธาร นักท่องเที่ยวมักพูดว่าแค่มาได้เห็นปลาหลายพันธุ์ในลำธารที่ใสสะอาดก็คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป

ความสะอาดของเมืองลี่เจียงโบราณมีความโดดเด่นเป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีถังขยะขนาดใหญ่วางหน้าบ้าน ทุกชั่วโมงจะมีรถขนขยะคันเล็กๆ เปิดเพลงรณรงค์รักษาความสะอาดชาวบ้านจะรีบเอาขยะมาโยนใส่รถ ทุกเช้าตรู่จะพนักงานใช้สวิงช้อนก้อนเศษไม้ที่ไหลจากภูเขาออกไป เพื่อให้น้ำในลำธารสะอาด

จีนมีรายได้จากการส่งออกมหาศาล ทำให้ปลายพ.ศ. ๒๕๔๙ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง ๑ ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯเป็นประเทศแรกของโลก รัฐบาลจีนกระจายรายได้แก่คนในท้องถิ่นโดยห้ามมัคคุเทศก์ออกไปนำเที่ยวข้ามเมืองนอกจากนี้

ผู้บริหารเมืองลี่เจียงบอกว่า ชาวลี่เจียงมีเงินมากมายจากการท่องเที่ยว แม้อยากจะมาไทยแต่ในเว็บไซด์มีแต่คำบรรยายเป็นภาษาไทยกับอังกฤษเท่านั้นจึงสื่อกันได้ไม่ทั่วถึง ลี่เจียงมีนักท่องเที่ยวเบียดเสียดกันมาก คนส่วนใหญ่ได้ยินชื่อเสียงอาหารไทยแต่มีร้านอาหารไทยในโรงแรมแกรนด์ลี่เจียงบริเวณเมืองเก่าของนายสนธิ ลิ้มทองกุลเพียงแห่งเดียว หากใครจะเปิดภัตตาคารร้านอาหารไทย ผู้บริหารเมืองลี่เจียงก็ยินดีจะหาสถานที่ดีที่สุดให้ [11]

การขนส่งทางรถไฟในจีน
การใช้บริการการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟมีสภาพที่คับคั่งและแออัดยัดเยียดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ดังนั้นกว่ารตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์จะเข้าไปถึงชานชาลาได้ ก็ต้องเบียดเสียดผู้คนเข้าไปอย่างทุลักทุเล รถไฟสายตงเป่ยลู่เสี้ยน(สายตะวันออกเฉียงเหนือ)ระหว่างปักกิ่ง-เมืองฉี๋ฉี๋ฮาเออ เคลื่อนออกจากสถานีรถไฟปักกิ่งช้าๆ ตั๋วโดยสารนั่งราคา ๑๕๑ หยวน(หยวนละ ๔.๕บาท) เดินทางจากปักกิ่งถึงเมืองฮาเอ่อร์ปิน(ฮาร์บิน) ใช้เวลา ๑๖ ชั่วโมง

ในขบวนรถมีผู้ชายแย่งที่นั่งหญิงสาว หากเอากระเป๋าลงมาก็จะมีผู้โดยสารอื่นเอาของขึ้นไปวางแทน จีนเป็นชาติใหญ่ไม่มีใครเห็นใจใคร คนไทยที่ไปเที่ยวจีนหรือไปทำงานในเมืองใหญ่ไม่มีโอกาสได้เห็นภาพเช่นนี้ ถ้าไม่มีคนพูดภาษาจีนกลางไปด้วยห้ามเดินทางเด็ดขาด

จีนมีประชากรกว่า ๑,๓๐๐ ล้านคน การขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอ รถประจำทางและรถไฟจึงมีตั๋วยืนราคาถูกลงมา แค่ลุกไปห้องน้ำบนรถไฟสายยาวของจีนก็จะมีผู้โดยสารตีตั๋วยืนเข้านั่งแทน ความลำบากทำให้คนจีนที่ไปเห็นทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ในแอฟริกาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ประเทศละหลายหมื่นคน บางประเทศมีคนจีนเป็นแสนคน

เมื่อวันที่๙ มกราคม ๒๕๕๑ เจ้าหน้าที่ของจีน มองโกเลีย รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์และเยอรมนีลงนามบันทึกช่วยจำที่ปักกิ่งขยายความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้า รถไฟสายโลจิติกส์จากปักกิ่งขบวนแรกได้แล่นออกจากฐานโลจิติกส์ของบริษัท ไชนา เรลเวย์ คอนเทนเนอร์ ทรานสปอร์ต (China Railway Containner Transport) สู่ปลายทางนครฮัมบูร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีระยะทาง ๙,๗๘๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๑๘ วัน

จีนและเวียดนามได้เปรียบไทยมาก ทิศเหนือของเวียดนามเป็นเขตปกครองตนเองกว่างซี มีถนนและรถไฟไปเชื่อมต่อกับมณฑลต่างๆของจีน เวียดนามมีท่าเรือน้ำลึกหลายแห่ง อยู่ไม่ไกลจากมณฑลตอนใต้ของจีนกับมณฑลตะวันออกซึ่งมีเครือข่ายท่าเรือเชื่อมกับรางรถไฟ สินค้าจากทั้งสองประเทศจึงใช้รถไฟไประบายในสาธารณรัฐแลนด์ล็อกที่ไม่มีทางออกทะเล

จากปักกิ่งเดินทาง ๑๖ ชั่วโมงถึงนครฮาเอ่อร์ปิน มณฑลเฮยหลงเจียงอยู่ติดกับรัสเซีย นักเดินทางต้องหาซื้อเสื้อผ้าใหม่เพราะเสื้อผ้าที่ใส่จากกรุงปักกิ่งรับอุณหภูมิได้ประมาณ – ๑ ถึง – ๑๐ องศาเซ็นเซียส แต่อุณหภูมิกลางคืนนอกเมืองฮาเอ่อร์ปินต่ำประมาณ –๓๕ องศา ในตัวนครฮาเอ่อร์ปิน ประมาณ– ๒๖ องศา[12]

คนไทยคุ้นเคยกับการลงทุนที่มณฑลทางภาคใต้และเมืองท่าของจีน ได้แก่ หยุนหนาน กว่างตง (กวางตุ้ง) ผูเจี้ยน ไหหนาน (ไหหลำ) เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเห็นว่าภาคเหนือกับภาคตะวันตกที่ติดกับมองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซ ฯลฯ ยังไม่เจริญ

จีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีที่ติดทะเลทางตอนใต้และตะวันออกบางส่วน การพัฒนาประเทศจึงไม่กระจาย จากการประชุมที่ซีอานทำให้รู้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า(พ.ศ.2558) จีนจะใช้เงินสร้างรางรถไฟอีก 127 พันล้านหยวน(693,000 ล้านบาท) จะสร้างสนามบินอีก 28 แห่ง และปรับปรุงสนามบินหลักอีก 27 แห่งใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตก โดยใช้เงินอีก 20 พันล้านหยวน(แสนกว่าล้านบาท) เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากทุกทวีปบินตรงไปยัง 12 มณฑลทางภาคตะวันตกโดยไม่ต้องผ่านปักกิ่งหรือภาคอื่นๆ กระทรวงรถไฟจีนยังมีโครงการจะสร้างรถไฟหลายสาย เช่น

1. เส้นทางรถไฟจากนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนานมาสิงคโปร์ ผ่านพม่า ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นายหวัง หลินซู กล่าวถึงเฉพาะข้อดีด้านการขนถ่ายสินค้า การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างจีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย และการหาทางออกทะเลให้สินค้าที่ผลิตจากทางตอนใต้ของจีนสู่สิงคโปร์แต่ไม่ได้พูดถึงเมืองไทย
2. เส้นทางรถไฟจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ไปสาธารณรัฐต่างๆในเอเชียกลาง มีการประชุมว่าจะสร้างรางนานาชาติระยะทาง 300 กม. รถไฟระหว่างจีน คีร์กีซ และอุซเบกิสถาน เพื่อไปเชื่อมกับรางเดิมของแต่ละประเทศ เริ่มจากเมืองกาชิในซินเจียงฯ ผ่านประเทศคีร์กีซไปยังเมืองแอนดิซฮานในอุซเบกิสถาน
ซินเจียงอุยกูร์กว้างใหญ่กว่าไทยหลายสิบเท่า ผลิตผลไม้และฝ้ายปีละมากๆ แต่ไม่มีตลาด เพราะขาดเส้นทางการขนส่ง ท่าเรือก็ไม่มี จะส่งทางเครื่องบินก็แพง ขณะที่แทบทุกสาธารณรัฐในเอเชียกลางมีน้ำมันมาก เมื่อจีนไม่มีน้ำมันก็ทำให้เกิดการแลกสินค้ากันโดยใช้รถไฟ[13]

โอกาสของการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง
จีนเรียกแม่น้ำโขงว่า “หลานช้างเจียง” หน้าแล้งแม่น้ำโขงลึก 1.5-2 เมตร เรือที่แล่นได้จะมีขนาดไม่เกิน 80 ตัน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม น้ำลึก 4 เมตร บางช่วงลึก 7 เมตร ถ้าเจรจาขุดลอกแม่น้ำโขงได้ลึก7 เมตรขึ้นไป เรือบรรทุกสินค้าขนาด 120 ตัน ก็สามารถวิ่งได้ อันจะส่งผลให้การเดินทาง ท่องเที่ยว ค้าขายการขนส่งสินค้าและขนย้ายทรัพยากรธรรมชาติระหว่างจีนตอนใต้ พม่า ลาว ไทย เขมร และเวียดนามเกิดขึ้นมาพร้อมกับปริมาณการค้าขายและเม็ดเงินมหาศาล

การขนส่งทางแม่น้ำ ช่วยร่นระยะทางและค่าใช้จ่ายได้มาก จากท่าเรือเชียงของไปเชียงแสนในเชียงรายคิดเป็นระยะทางเรือ70 กม. จากท่าเรือเชียงแสนไปเชียงรุ่งของจีนระยะทาง 380 กม. และจากท่าเรือเชียงรุ่งไปซือเหมาในจีนระยะทาง 90 กม. แม่น้ำโขงตอนบนสามารถมีท่าเรือขนาดใหญ่ได้ถึง 13 แห่ง ในจีนมีท่าเรือเมืองซือเหมา เชียงรุ่ง เหมิ่งหานและกวนเหล่ย

ในประเทศลาวสามารถสร้างท่าเรือใหญ่ได้ที่บ้านทราย เชียงกก เมืองมอม ห้วยทราย และหลวงพระบาง ในประเทศพม่าก็สามารถสร้างท่าเรือได้ที่เมืองวังเจียงและวังปุง

ในไทยก็สามารถเปิดท่าเรือใหญ่ได้ที่เชียงแสนกับเชียงของ ประโยชน์ที่เกิดกับภาครัฐ คือ เงินเพิ่มจากภาษีขาเข้า ค่าธรรมเนียมต่างๆและค่าบำรุงท่าเรือ ทำให้ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าได้ [14]

การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
กลุ่มบริษัทบาลานซ์ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำแผนปฏิบัติการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ - ใต้ (North - South Economic Corridor) ปี2551 ภายใต้กรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) โดยเน้นความสำคัญทางเศรษฐกิจของถนนสาย R3A และถนนสายR3B

ถนนสาย R3A จากเชียงของ - ห้วยทราย - หลวงน้ำทา - บ่อเต็น - คุนหมิง เป็นเส้นทางจากไทยผ่านลาวไปจีน
ถนนสาย R3B จากแม่สาย - ท่าขี้เหล็ก - เชียงตุง - คุนหมิง เป็นเส้นทางจากไทยผ่านพม่าไปจีน

ถนนทั้งสองสายจะทำให้ไทยมีศักยภาพเป็นฐานการค้า การลงทุนอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้จังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยเป็นศูนย์กลางด้านการผลิต การค้า การลงทุนและการคมนาคมขนส่งภายใต้กรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

โครงการ GMS เป็นความร่วมมือของ ๖ ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว ญวน จีน เขมร เริ่มใน พ.ศ. ๒๕๓๕ มีธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) สนับสนุน

กลุ่มประเทศใกล้เคียงที่สามารถอำนวยความมั่งคั่งให้ประเทศไทยได้ คือ กลุ่มประเทศ GMS ซึ่งมีพื้นที่ ๒ .๓ ล้านตารางกิโลเมตร เท่ากับพื้นที่ยุโรปตะวันตก มีผู้บริโภคสินค้าและบริการไม่น้อยกว่า ๒๕๐ ล้านคน พื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รัฐบาลมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ และที่แซงแทบทุกประเทศคือ จีนและเวียดนาม เตรียมทุกอย่างไว้ให้เอกชนไปลงทุนโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก ในป่าลึกของทวีปแอฟริกาจึงมีทีมสำรวจของญี่ปุ่นที่เข้าไปสำรวจข้อมูลเพื่อประโยชน์ด้านการค้า การตลาดและการลงทุน[15]

เส้นทางหมายเลข ๑๒
เส้นทางท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่จะบูมในอนาคต คือ ถนนสายนครกว่างโจว มณฑลกว่างตง – กรุงเทพฯ มีคนจำนวนไม่น้อยขับรถยนต์จากกว่างโจว เข้าเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง พักที่เมืองหนานหนิง แล้วขับรถลงทางใต้ ไปเวียดนาม ผ่านลาว เข้าถนนหมายเลข ๑๒ ถึงนครพนมและกรุงเทพฯ

ปี2554เป็นต้นไป การท่องเที่ยวบนถนนหมายเลข ๑๒ จะคึกคัก รถขนส่งสินค้าบนถนนหมายเลข ๑๒ จะเพิ่มจำนวนอย่างมหาศาล เพราะสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ นครพนม-คำม่วน จะสร้างเสร็จ

โครงการ ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ นี้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไทย-เวียดนาม เมื่อ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๗ และ คณะรัฐมนตรีไทยอนุมัติงบประมาณจำนวน ๒๐ ล้านบาทให้กรมทางหลวงศึกษาความเหมาะสม เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๗

พ.ศ. ๒๕๕๒ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ เดินทางไปดูการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ โดยนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมให้ข้อมูลว่า สะพานจะสร้างเสร็จก่อนกำหนดถึง ๓ เดือน

เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ นายเริงศักดิ์ รตอ.นิติภูมิ ฯลฯ เคยเดินทางจากนครย่างกุ้งไปกรุงเหน่ปยี่ตอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า และหารือกับผู้ว่าราชการเมืองทวายเรื่องจะสร้างถนนสายใหม่จากเมืองทวายไปยังเมืองกาญจนบุรี

จากวิทัศน์ของผู้ว่าราชการจังหวัดบวกกับการเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ + เส้นทางหมายเลข ๑๒ + ความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจมณฑลกว่างตงและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง + ศักยภาพเศรษฐกิจของเวียดนาม + ทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ในลาว เชื่อว่า การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนมและเมืองน้อยใหญ่ที่อยู่ในเส้นทางกรุงเทพฯ – นครพนม -ฮานอย-หนานหนิง- กว่างโจว จะเติบโตด้วย

ลาวกำลังจะมีรถไฟ โดยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ ลาวเริ่มก่อสร้างเครือข่ายรถไฟเชื่อมลาวเข้ากับไทยและหยุนหนาน เริ่มจากนครคุนหมิงไปเชียงราย ผ่านเชียงรุ่ง เมืองลา หลวงพระบาง หลวงน้ำทาและห้วยไซ การก่อสร้างทางรถไฟของลาวน่าจะเสร็จเร็วกว่านี้ แต่เมื่อบริษัท แปซิฟิก ทรานสปอร์เตชัน จำกัด บริษัทในเครือสหวิริยาของไทย ได้สัมปทานก่อสร้างและเดินรถไฟในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทั้งหมด ๑,๕๐๐ กิโลเมตร เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ แต่จนปลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ไม่เริ่มงาน รัฐบาลลาวจึงยกเลิกสัมปทาน จากนั้นก็ต้องเปิดหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ [16]

ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์และคณะเช่ารถจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวออกสำรวจทางหลวงหมายเลข ๑๒ ซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองท่าแขกของลาว ไปจังหวัดก้วงบิ้ญของเวียดนาม ถนนหลวงสายนี้ตัดผ่านลาวเป็นระยะทางสั้นที่สุด และจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจากไทยไปลาวเข้าเวียดนามสู่จีนที่สั้นที่สุด

เส้นทางหมายเลข ๙
ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ เห็นว่า เส้นทางหมายเลข ๙ จากแขวงสะหวันนะเขตไปชายแดนของลาวที่ด่านแดนสวรรค์และเข้าเวียดนามที่ด่านลาวบาว จังหวัดก้วงตริ (กวางจิ) เหมาะที่จะไปเวียดนามทางตอนกลางเท่านั้น จากมุกดาหารไปถึงสะหวันนะเขตเป็นต้นทางของถนนหมายเลข ๙ มีเมืองเศรษฐกิจหลายแห่ง เช่น เมืองอุทุมพอน (เมืองเซโน) เมืองอาดสะพังทอง(ดงเห็น) เมืองพลานไซ (พลาน) เมืองพิน เมืองเซโปน และด่านแดนสวรรค์ของลาว จากนั้นจึงเข้าเวียดนามที่ด่านลาวบาว อำเภอเฮืองหัว จังหวัดก้วงตริ ถนนหมายเลข ๙ เป็นเส้นทางสายแรกที่เชื่อมลาวและเวียดนาม ฝรั่งเศสเคยใช้ลำเลียงทหารจากเวียดนามมาลาว เวียดนามก็ใช้ถนนสายนี้ช่วยลาวรบกับอเมริกา เมื่อสงครามสงบด่านแดนสวรรค์กลายเป็นด่านสากลแห่งแรกที่เปิดให้คนทุกสัญชาติเดินทางระหว่างลาวกับเวียดนาม ตอนนี้มีการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าผ่านด่านแดนสวรรค์ไปด่านลาวบาวมากที่สุด ทางฝั่งเวียดนามก็มีจังหวัดสำคัญ เช่น ก้วงตริ ดานัง และเทื่อเทียน-เว้ (ชื่อเต็มของจังหวัดเว้)เมืองมรดกโลก

จากมุกดาหารไปด่านแดนสวรรค์ระยะทาง ๒๕๐ กม. จากชายแดนลาว-เวียดนามไปเว้ ๑๖๐ กม. (รวมจากมุกดาหารเพียง ๔๑๐ กม.ก็ถึงเมืองเว้) ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิมองว่า ถ้าพัฒนาให้ดี ภาคอีสานจะมีศักยภาพมาก มุกดาหารเพียงจังหวัดเดียวถ้าทำอย่างถูกต้อง ความมั่งคั่งจากจีน เวียดนาม และลาวก็ไหลทะลักเข้ามา
ไทยควรใช้เส้นทางสายนี้จนชำนาญ จะได้ทราบว่าจะใช้ศักยภาพของเส้นทางสายนี้อย่างไร โดยเฉพาะหลังจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ เมื่อเวียดนามและลาวเข้ามาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์

เส้นทางหมายเลข ๘
ร.ต.อ.นิติภูมิและคณะเคยใช้เส้นทางหมายเลข ๘ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาจนถึงปัจจุบัน จากนครพนมข้ามไปเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ไปจนถึงเมืองหลักซาวระยะทางถึง ๒๓๘ กม. เมื่อเข้าด่านน้ำพาว ของแขวงบอลิคำไซ ก็เตรียมเข้าเวียดนามที่ด่านกาวแตรว อำเภอเฮืองเซิน จังหวัดฮ่าติญ คิดเป็นระยะทาง ๓๓๘ กม.จากริมแม่น้ำโขงไปจนถึงเมืองวิงห์ของเวียดนาม

ร้านอาหารอันต่าย ริมถนนหลักหมายเลข ๑ อำเภอเมือง จังหวัดนิญบิ้ญ อาหารอร่อยแต่มียุงมาก เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสมบูรณ์ร้านนี้จะแพ้ร้านอาหารของคนไทยที่ไปค้าขายในเมืองต่างๆของเวียดนาม [17]

เขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียนกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางรถยนต์
กลุ่มอาเซียน ๑๐ ประเทศ แบ่งออกเป็น กลุ่มประเทศอาเซียนเก่า คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และบรูไน กลุ่มอาเซียนใหม่ มีกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV)

ไทยไม่ใช่ชาติเดียวที่เผชิญกับวิกฤตคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่สถานีโทรทัศน์เวียดนามปล่อยให้ภาพยนตร์เกาหลีเข้าไปมีบทบาท คุณภาพเยาวชนเวียดนามก็ตกต่ำ ในสถานศึกษามีปัญหานักเรียนหญิงตีกันเพื่อแย่งผู้ชาย และเยาวชนเวียดนามคลั่งไคล้วัตถุนิยมกว่าเด็กไทย[18]

กลุ่มอาเซียนเชื่อว่า ร้านค้าเพียงร้านเดียวตลาดจะเล็กไม่มีอำนาจต่อรองกับชาติที่ใหญ่กว่า การรวมกันเป็น ๑๐ ประเทศทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น ๖๐๐ ล้านคน ( ๙% ของประชากรของโลก) จีดีพีจะมีขนาด ๑.๕ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ( ๒% ของจีดีพีโลก)

การรวมตัวกันเป็นตลาดและฐานผลิตเดียวกันมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดตลาดเสรีในส่วนของสินค้าต่างๆ ๗ สาขา ดังนี้
การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ อาหาร/เกษตร/ป่าไม้ และสาขาที่เร่งรัด

กิจการร้านอาหารเข้าข่ายเปิดเสรีสาขาที่เร่งรัด ๑๒ สาขา จะบุกชาติอาเซียนอีก ๙ ประเทศให้ไม่เสียเปรียบและเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น คนไทยจำเป็นต้องเข้าใจ PIS และ non-PIS

Non-PIS คือ สินค้าและบริการที่ไม่เร่งรัดการเปิดเสรี
PIS เป็นสินค้าและบริการที่เร่งรัดการเปิดเสรี มี ๑๒ สาขา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตร ประมง ยานยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ไม้ อิเลกทรอนิกส์ สุขภาพ การบิน โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ การท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ ในพ.ศ.๒๕๕๘ ประเทศอาเซียนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีทางการค้าอย่างสมบูรณ์ได้

เส้นทางหมายเลข ๑๒ เป็นเส้นทางที่จะขนสินค้าและผู้คน ‘จากไทย ไปลาว เข้าเวียดนาม ข้ามไปจีน’ ในวันที่ ๑๑ เดือน ๑๑ ค.ศ. ๒๐๑๑ ตรงกับกำหนดการเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ เชื่อมจังหวัดนครพนมกับแขวงคำม่วน ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถที่จะขับรถจากเมืองท่าแขกของแขวงคำม่วนตรงไปถึงหมู่บ้านนาเพ้า เมืองมะหาไซ แขวงคำม่วน ระยะทางเพียง ๑๔๖ กม. เมื่อพ้นด่านนาเพ้าของลาว ก็เข้าเขตด่านจาลอของเวียดนามที่อำเภอจาลอ จังหวัดก้วงบิ้ญ (กว่างบินห์) ถนนสายนี้เหมาะสำหรับขนส่งเพราะมีเส้นทางบนภูเขาสูงน้อย จึงมีรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่วิ่งเป็นระยะๆ จากชายแดนเวียดนามไปถึงเส้นทางหมายเลข ๑ (ทอดยาวเหนือ-ใต้ เชื่อมชายแดนจีน/ เวียดนาม - ชายแดนกัมพูชา/ เวียดนาม) ยาว ๒๕๔ กม. จากริมแม่น้ำโขงฝั่งลาวไปจนถึงถนนหมายเลข ๑ ของเวียดนาม ระยะทาง ๔๐๐ กม. การใช้ถนนหมายเลข ๑๒ ได้เปรียบ เพราะมีช่วงอยู่ในลาวสั้นเพียง ๑๔๖ กม.

ถนนที่จะเชื่อมไปถึงกรุงฮานอยมี ๒ เส้น คือ หมายเลข ๑ และเส้นโฮจิมินห์เทรล(Hochimint Trail) ข้อเสียของถนนหมายเลข ๑ คือ มีเมืองและผู้คนมากแต่ถนนแคบ รถติด วิ่งได้เพียง ๓๐-๔๐ กม./ชม. ส่วนเส้นโฮจิมินห์ เทรล เป็นทางเปลี่ยว สองข้างทางเป็นไร่นาเกษตรกร มีแต่ทุ่งนา สวนกาแฟ พริกไทย ยางพารา ฯลฯ ชาวนาเอาข้าวมากองบนถนนให้รถที่วิ่งไปมานวดข้าวแทนควาย ไม่มีอู่และปั๊มน้ำมัน เสี่ยงหลงทางเพราะป้ายจราจรยังไม่มี [19]

ตอนเหนือสุดของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คือ จังหวัดหลั่งซอน (บางสำเนียงเรียกลานเซิน) มีด่านสำคัญ ๒ ด่านที่ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเข้าไปในสาธารณรัฐประชาชนจีน
-ด่านหู่งี่กวน เป็นด่านให้คนผ่าน ห้ามนำสินค้าและรถยนต์ มีที่พักรถ ภัตตาคาร ร้านค้า และโรงแรม เป็นด่านที่ทันสมัยมาก มีรถไฟฟ้าแบบรถสนามกอล์ฟและรถโดยสารรับ-ส่งคนจากสถานีไปที่ด่านระยะทาง ๕ กม.
-ด่านเตินแทน ห่างออกไปประมาณ ๒๐ กม. เป็นด่านรถยนต์ผ่าน ทางฝั่งเวียดนามมีตลาดใหญ่มีสินค้าจีน ๙๙% คนขายส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่พูดภาษาเหวียตได้บ้าง
ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ สนใจระบบโลจิสติกส์ของเวียดนามและจีน จึงสังเกตเห็นรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่วิ่งขวักไขว่ราวกับเป็นท่าเรือใหญ่ ภูมิประเทศบริเวณนี้มีแต่ภูเขา ถนนเลนเดียวรถวิ่งสวนกัน บางช่วงก็มีรถบรรทุกติดมาก มีหลายช่วงทางการเวียดนามกำลังทะลายภูเขา เพื่อเอามาขยายถนน

แนวคิดเรื่อง “ตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน”ของอาเซียน : การแบ่งงานทำตามภูมิศาสตร์และความชำนาญ
วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยมี “ตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน” สมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศจะแบ่งงานกันทำตามภูมิศาสตร์และความชำนาญ ดังนี้
-กิจการโลจิสติกส์และการขนส่งเป็นของเวียดนาม
-กิจการท่องเที่ยวและการบินเป็นของไทย
-กิจการด้านสุขภาพเป็นของสิงคโปร์
-ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นของฟิลิปปินส์
-ผลิตภัณฑ์เกษตรและประมงเป็นของพม่า
-ผลิตภัณฑ์ยางและสิ่งทอเป็นของมาเลเซีย
-ผลิตภัณฑ์ไม้และยานยนต์เป็นของอินโดนีเซีย

ดร.อัทธิ์ พิศาลวานิชกับร.ต.อ.ดร.นิติภูมิคาดไว้ว่าหลังวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางบกของคนไทยจะปิดกิจการไม่น้อยกว่า ๓๐% ไทยอาจได้เปรียบเวียดนามด้านธุรกิจการขนส่งทางบกอยู่บ้างแต่เสียเปรียบมาเลเซีย ส่วนด้าน โลจิสติกส์ ไทยไม่มีทางสู้สิงคโปร์

การศึกษาเส้นทางจากไทย ไปลาว เข้าเวียดนาม ข้ามไปจีน รตอ.ดร.นิติภูมิใช้ทุนส่วนตัว ส่วนสิงคโปร์กับมาเลเซีย รัฐบาลจ้างบริษัทสำรวจเป็นเรื่องเป็นราวไว้นานแล้ว

รัฐบาลไทยเคยตั้งเป้าจะมีความโดดเด่นเรื่องการส่งออก แต่ไทยไม่มีบริษัทเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ ไม่มีบริษัทคาร์โกที่ขนส่งโดยเครื่องบินโดยเฉพาะ ต่อไปจะเป็นปัญหาของไทย เพราะขณะนี้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทยสูงถึง ๑๘% รัฐบาลมาเลเซียมุ่งลดให้เหลือ ๑๗% สิงคโปร์ ลดเหลือเพียง ๘% เท่านั้น เมื่อเขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียนประกาศใช้โดยสมบูรณ์จะทำให้คนไทยตกงานอีกมากและ โสเภณีอาจจะเต็มประเทศ[20]

รตอ.ดร.นิติภูมิ คาดว่า ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ หลังจากที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีผลครบจบสมบูรณ์ บริษัทเทมาเส็กจะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สุดของสิงคโปร์ในการบันดาลให้สิงคโปร์เป็นชาติมั่งคั่งมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้อีกหลายเท่า รัฐบาลสิงคโปร์มีบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐ Government of Singapore Investment Corporation (GIC) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในประเทศต่างๆ และมีบริษัทเครือข่าย เช่น Temasek Holdings, Temasek Linked Companies (TLCs) ฯลฯ

เทมาเส็กสร้างโดยรัฐบาล มีรัฐมนตรีคลังของสิงคโปร์เป็นเจ้าของในนามรัฐบาล แม้ยังไม่ถึงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ ทว่าบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ก็เข้ามาซื้อกิจการ หรือ ถือหุ้นอยู่ในบริษัทไทยหลายแห่ง ธนาคารที่เคยเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของไทย เป็นสมบัติของคนไทย มีรายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นของบริษัทรัฐบาลสิงคโปร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารยูโอบี ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ หรือแม้แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เราใช้รับคนไข้จากต่างประเทศที่เราคนไทยภูมิใจกันนักกันหนาอย่าง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ก็เป็นของสิงคโปร์

ทรัพย์สินในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย ฯลฯ ก็มีทุนรัฐบาลสิงคโปร์เข้าไปกว้านซื้อมาเป็นเจ้าของเป็นจำนวนมาก ตอนที่นายลี กวน ยิว เป็นนายกรัฐมนตรี นายลีทำให้สิงคโปร์เป็นทุนนิยมโดยมีรัฐเป็นแกนนำ ไม่ใช่เป็นทุนนิยมแบบประเทศอื่นที่นักลงทุนดำเนินการเองอย่างสะเปะสะปะ แต่สิงคโปร์เป็นทุนนิยมที่มีรัฐเข้าไปมีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจ
จีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ที่มีระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ทว่าถ้าคิดตามความเห็นของผม ผมว่าสิงคโปร์เป็นประเทศเสรีนิยม ที่มีระบอบเศรษฐกิจกระเดียดไปในทางสังคมนิยมหน่อยๆ ที่ผมกล้าเรียนเขียนรับใช้ไปอย่างนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้นำในการสร้างอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการเศรษฐกิจให้ประเทศทั้งนั้น อีกทั้งยังตั้งคณะกรรมการ Statutory Board ดูแลงานด้านต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า อุตสาหกรรมที่รัฐสร้างขึ้นมา จะดำเนินไปในแนวทางที่รัฐกำหนด

บริษัทของสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยใช้เงินทุนของรัฐบาล แถมรัฐบาลยังส่งข้ารัฐการเข้าไปบริหาร คนสิงคโปร์เรียกบริษัทพวกนี้ว่า จีแอลซีเอส (GLCs) รัฐบาลสร้างยุทธศาสตร์ว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์จะต้องเป็นศูนย์กลางการต่อเรือและซ่อมแซมเรือ จึงสนับสนุนเงินและตั้งบริษัทที่เกี่ยวกับการสร้างและการซ่อมแซมเรือ เช่น บริษัทจูร่ง ชิพยาร์ดส์ เคพเพล เซมบาวัง ฯลฯ [21]
โครงการสร้างทางรถไฟจากจีนสู่พม่า ลาวและอินโดจีน

นาย สมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว แถลงข่าวในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เรื่องรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทน์ - หยุนหนานที่ลาวและจีนลงนามพัฒนาร่วมกันเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่กรุงเวียงจันทน์ กำหนดก่อสร้างต้น พ.ศ. ๒๕๕๔ ขณะนี้ จีนเข้าไปสร้างสนามบิน ถนน และการคมนาคมประเภทอื่นในลาวอีกมากมาย ผู้บริหารของประเทศไหนไหวตัวช้าจะพาประชาชนคนทั้งประเทศล้าหลัง ในห้วงช่วงที่จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ฯลฯ ปิดประเทศเพราะปัญหาภายใน ไทยก้าวนำหน้าพวกนี้ไปได้หลายช่วงตัว ความล้าหลังอย่างมาก คือ โรงแรมของไทยน้อยนักที่จะมี wifi หรือมีอินเตอร์เน็ตให้ลูกค้าใช้บริการได้ถึงห้อง แม้แต่ในโรงแรมทันสมัยที่สุดก็ยังต้องลงมาใช้ที่ล็อบบี้ แต่ที่โรงแรมในชนบทจังหวัดต่างๆ ของเวียดนามกลับมี wifi หรือ สายอินเตอร์เน็ตต่อให้ใช้จนถึงห้องนอน และไม่ว่าจะแสนไกลแค่ไหนในเวียดนาม ก็ยังมีโทรศัพท์ ๓ จีใช้

จีนและพม่ายังวางแผนสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากนครคุนหมิงไปยังนครย่างกุ้งของพม่า ความยาวเกินพันกิโลเมตร จะวางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้างใน พ.ศ.๒๕๕๔ รวมทั้งยังจะมีทางรถไฟสายจากกรุงพนมเปญไปยังชายแดนเวียดนาม และจีนจะสร้างรางรถไฟความเร็วสูงอีกสายหนึ่งจากลาวเข้ากัมพูชาด้วย[22]

การขนส่งสินค้าทางอากาศในจีน
จีนต้องการพัฒนาศักยภาพทางการบินเพื่อขนสินค้าออก–เข้าทางอากาศให้เพิ่มจากปีละ 570,000 ตัน เพิ่มเป็น 1 ล้านตัน ให้สามารถขนส่งผู้โดยสารเพิ่มจาก 29.3 ล้านคนในปีนี้ (พ.ศ.2553) เพิ่มเป็น 43 ล้านคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในแผนพัฒนาชาติฉบับที่ 10 ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า จีนจะส่งดาวเทียมเพื่อการสื่อสารขึ้นไปโคจรอีก 35 ดวง [23]

ธุรกิจสายการบินของประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีสายการบินขนาดใหญ่ 3 สายการบินแข่งขันอย่างรุนแรงกับสายการบินต่างประเทศและสายการบินต้นทุนตํ่าที่เข้าไปแย่งตลาด ปัจจุบันจีนเป็นตลาดขนส่งทางอากาศที่เติบโตรวดเร็วมาก ในปี 2549 มีผู้โดยสารใช้บริการทางการบิน 160 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขปี 2548 ที่มีปริมาณ 138.3 ล้านคน เดิมภายหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2492 ประเทศจีนมีเพียงสายการบินเดียวที่ผูกขาดการดำเนินการโดยหน่วยงาน CAAC

บริการขนส่งทางอากาศในประเทศจีนช่วงนั้นจำกัดมาก ธุรกิจการบินในจีนเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อปี 2521 ทำให้ธุรกิจสายการบินเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2531 รัฐบาลแยกธุรกิจการบินของหน่วยงาน CAAC ออกเป็นสายการบินอิสระ 6 สายการบิน ได้แก่ Air China China Eastern Airlines China Southern Airlines China Northwest Airlines China Northern Airlines และ China Southwest Airlines

ต่อมารัฐบาลจีนยกเลิกการผูกขาดธุรกิจสายการบินโดยเปิดให้ก่อตั้งสายการบินใหม่ ทำให้มีผู้ได้รับอนุญาตจำนวนมากทั้งในส่วนที่เป็นรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงทำให้หลายสายการบินประสบปัญหาทางการเงิน คณะรัฐมนตรีของจีนได้มีมติเมื่อต้นปี 2545 เห็นชอบปรับโครงสร้างสายการบินของรัฐบาลกลางจำนวน 9 สายการบิน โดยกำหนดให้ควบกิจการเข้าด้วยกันเพื่อเป็น 3 สายการบิน ขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ดังนี้

-ควบรวมสายการบิน China Southwest Airlines และสายการบิน China National
Aviation Corp เข้ากับสายการบิน Air China
-ควบรวมสายการบิน Northwest Airlines และสายการบิน Yunnan Airlines เข้ากับสายการบิน China Eastern
-ควบรวมสายการบิน China Northern และสายการบิน Xinjiang Airlines เข้ากับสายการบิน China Southern

สำนักข่าว เอเอฟพี(AFP) รายงานว่า
“ สายการบิน Eastern Airlines ของจีนประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 กุมภาพันธ์2553) ว่าได้ควบรวมบริษัทเข้ากับสายการบิน Shanghai Airlines เรียบร้อยแล้ว นับเป็นการควบรวมบริษัทครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทเอกชนในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการบินจีน คิดเป็นมูลค่า 8,900 ล้านหยวน โดย Shanghai Airlines จะใช้ชื่อบริษัทเดิมหลังจากการควบกิจการ แต่การบริการและทรัพยากรของบริษัทจะถูกเปลี่ยนใหม่ Liu Jiangbo ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Eastern Airlines Corporation กล่าวว่า ได้วางแผนจะพัฒนาการบริการ ระบบงานและเปิดตัวแบรนด์ที่จะให้บริการที่สะดวกและผลิตภัณฑ์คุณภาพสำหรับลูกค้า หลังการควบรวมบริษัท Eastern Airlines จะเป็นเจ้าของเครื่องบินโดยสารมากกว่า 330 ลำ และจะขยายเที่ยวบินออกไปอีก 151 จุด นอกจากนี้ Eastern Airlines จะเป็นเจ้าของทุนมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านหยวน”[24]

หลังควบรวมกิจการทำให้สายการบิน Air China ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจอย่างมาก ในปี 2549 มีกำไรถึง 3,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 16,000 ล้านบาท และสายการบินของรัฐบาลกลางจีนทั้ง 3 สายการบินก็กลายเป็นสายการบินขนาดใหญ่โดยมีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 80% ของการขนส่งทางอากาศภายในประเทศ

สายการบิน Air China เป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของจีน มีฐานอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ในปี 2549 ขนส่งผู้โดยสารมากถึง 31.5 ล้านคน มีรายได้ 47,000 ล้านหยวน (235,000 ล้านบาท )และมีกำไรมากถึง 3,200 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 16,000 ล้านบาท เดิม Air China มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท China National Aviation Holding Company จำกัด ถือหุ้น 69% และสายการบินคาเธย์แปซิฟิคของฮ่องกง ถือหุ้น 10% แต่กลางปี 2549 มีการประกาศเป็นพันธมิตรกับสายการบินคาเธย์แปซิฟิค โดยสายการบิน Air China จะเข้าไปถือหุ้น 17.5% ในสายการบินคาเธย์แปซิฟิค ส่วนสายการบินคาเธย์แปซิฟิคได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในสายการบิน Air China จากเดิม 17.5% เพิ่มขึ้นเป็น 20%

ส่วนสายการบิน China Southern ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของจีน หากวัดตามจำนวนเครื่องบินซึ่งมีมากถึง 309 ลำ ก็ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจเช่นเดียวกัน ในปี 2549 ขนส่งผู้โดยสาร 49.2 ล้านคน มีรายได้ 46,000 ล้านหยวน ( 230,000 ล้านบาท) จากเดิมในปี 2548 ขาดทุน 1,850 ล้านหยวน (9,250 ล้านบาท)ปี 2549 กำไร 188 ล้านหยวน(940 ล้านบาท) สายการบินแห่งนี้มีฐานอยู่ที่นครกวางโจวในมณฑลกวางตง ปัจจุบันกำลังขยายฐานจากกวางโจวไปยังปักกิ่งเพื่อแสวงหารายได้เพิ่ม และกำลังสร้างเครือข่ายในระดับโลก โดยกำหนดเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Sky Team Alliance ซึ่งมีสายการบินแอร์ฟรานซ์ เดลต้าแอร์ไลน์และโคเรียนแอร์ไลน์เป็นแกนนำ ตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นไป

สายการบิน China Eastern ซึ่งมีฐานอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้กลับประสบปัญหาขาดทุนในปี 2548 เป็นเงิน 467 ล้านหยวน ( 4,335 ล้านบาท) ในปี 2549 ยังมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ขาดทุนมากถึง 970 ล้านหยวน ( 4,850 ล้านบาท) และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงถึง 10/1

สายการบิน China Eastern พยายามขายหุ้น 20% ให้สายการบินต่างประเทศเพื่อกอบกู้สถานการณ์ และมีข่าวว่าสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สนใจจะเข้ามาถือหุ้น

สายการบิน China Eastern ยังไม่ได้เข้ากลุ่มพันธมิตร แต่มีข่าวว่ากำลังเจรจาเข้าร่วมกลุ่ม One world Alliance ซึ่งประกอบด้วยสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ สายการบินบริติชแอร์เวย์ สายการบินคาร์เธย์แปซิฟิค และสายการบินแจแปนแอร์ไลน์เป็นแกนนำ ขณะเดียวกันสายการบินของจีนได้ปรับปรุงการซ่อมบำรุงเครื่องบินดีขึ้นมาก พร้อมกับปรับเปลี่ยนจากเครื่องบินรัสเซียมาเป็นเครื่องบินโบอิ้งและแอร์บัส ข้อมูลของบริษัทโบอิ้งในช่วงทศวรรษที่ 1980 สายการบินจีนมีแนวโน้มจะเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกมากเป็น 5 เท่าของสายการบินสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงไปอยู่ในระดับความปลอดภัยไม่แตกต่างกัน

การที่ธุรกิจสายการบินของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการบุคลากรเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ปัจจุบันประเทศจีนมีมหาวิทยาลัยการบินพลเรือนนับเป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักบินใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีวิทยาเขตจำนวน 4 แห่ง มีสนามบิน 5 แห่ง และมีเครื่องบินสำหรับฝึกหัดนักบินเป็นจำนวนมากกว่า 100 เครื่อง โดยในปีการศึกษา 2549 มีผู้สำหรับการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ในหลักสูตรนักบินเป็นจำนวนมากถึง 800 คน

บริษัท Alteon เป็นบริษัทลูกของบริษัทโบอิ้ง ก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักบินขึ้นที่คุนหมิง โดยให้บริการฝึกอบรมทั้งนักบินชาวจีนและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัท Alteon ยังร่วมทุนกับบริษัทMil-Com Aerospace ของสิงคโปร์ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมอากาศยานขึ้นที่นครเทียนสิน โดยโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยการบินพลเรือนวิทยาเขตเทียนสิน[25]

ประสบการณ์ที่สนามบินชางฮีของรตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์
๘ ชั่วโมงที่สนามบินชางฮี ความประทับใจประการแรก คือ ที่นี่มีอินเตอร์เน็ตเกือบทุกมุมไม่ว่าจะเป็นอาคาร ๑ ๒ หรือ ๓ กลุ่มละไม่ต่ำกว่า ๓๐-๕๐ เครื่อง สำหรับให้ผู้โดยสารได้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี แต่ละอาคารมีคอมพิวเตอร์เป็นร้อย หรืออาจถึงพันเครื่อง ห้องนอนในเทอร์มินัล ๒ ของสนามบินชางฮี จึงไปนอนที่เทอร์นัล ๓ เวลา ๖ ชั่วโมง เสียค่าที่พักไม่กี่ร้อยบาท ได้นอนเต็มอิ่มในโรงแรมในสนามบินที่มีสภาพเท่ากับโรงแรม ๔-๕ ดาว ในสนามบินมีโรงภาพยนตร์ชั้น ๑ ฉายเวียน ๒๔ ชั่วโมง ผู้โดยสารจำนวนไม่น้อยหลับคาเก้าอี้ภาพยนตร์ มีโรงยิม มีสระว่ายน้ำและสวนผีเสื้อ มีเครื่องนวดเท้าได้ฟรี มีบ่อปลาคาร์พ สวนกล้วยไม้ มุมศิลปวัฒนธรรมโบราณของจีน อินเดีย และมาเลย์ ที่ประทับใจที่สุดและเป็นจุดอ่อนของสนามบินสุวรรณภูมิ คือ อาหารที่สนามบินของไทยราคาแพง แต่ที่สนามบินชางฮี คณะของรตอ. ดร.นิติภูมิ ๓ คน กินอาหารจนอิ่มจ่ายเงินเพียงสิบกว่าดอลลาร์สหรัฐฯ(ไม่น่าเกิน ๕๐๐ บาท) อาหารในสนามบินชั้นหนึ่งของโลกอย่างชางฮีใช้ใบตองห่อ เช่น เป็นข้าวห่อใบตอง อาหารและขนมก็เป็นอาหารพื้นบ้านที่ยังใช้ใบตองห่อ เช่น ขนมจากห่อด้วยใบจากของแท้
ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อมูลต่างๆของรตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ในรายการสารคดีเปิดเลนส์ส่องโลก และ World Beyond เดินทางสร้างชาติ YouTube Facebook Twitter และ ‘ช่องกิจกรรม’ ของเว็บไซต์ www.nitipoom.com [1]
[1] รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์, ชางฮี สนามบินในฝัน คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์, ไทยรัฐ, วันอังคารที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓

สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง การรถไฟฯลาดกระบัง
( Inland Container Depot, ICD. )
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.railway.co.th/ticket/CargoContainer.asp

สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ Inland Container Depot (ICD) คือ สถานที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ พร้อมจะให้บริการแก่ผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและบุคคลทั่วไปในการดำเนินพิธีการเกี่ยวกับสินค้าที่ยังคงอยู่ภายใต้อารักขาของศุลกากรก่อนนำสินค้าส่งออก หรือส่งต่อไปยังประเทศอื่น ๆ หรือ สถานที่ทำกิจกรรมทุกอย่างสินค้าขาเข้า และสินค้าขาออก แทนท่าเรือบก
คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 อนุมัติให้เวนคืนที่ดินในเขตลาดกระบังจำนวน 645 ไร่ เพื่อก่อสร้างสถานีบรรจุและแยก สินค้ากล่องจำนวน 6 สถานี การก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2538 และให้สัมปทานเอกชนประกอบการเปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2538

การอ้างอิง

[1] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, กระทรวงวัฒนธรรมคอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ศุกร์ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๓
[2] รตอ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, มหาอำนาจใหม่ : ชินเดีย, คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก, วันพฤหัสบดีที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐
[3] รตอ.ดร.นิติภูมิ, ประเทศเจ้าปัญหา, คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันพุธที่ ๑๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๑
[4] รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์, Sister Citiesระหว่าง กทม.กับเมืองแต้จิ๋ว(ซานโถว), คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันจันทร์ที่ ๔-๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
[5] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, ต้องหาตลาดใหม่, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔
[6] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, หู จิ่น เทา ไม่ตามกระแส, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗
[7] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, จีนยุคใหม่ในสายตาเนติภูมิฯ , คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันอังคารที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
[7] รตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์, มาเก๊าวันนี้ คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก, วันศุกร์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐
[9] จำนวน สองล้าน ทีอียู((TEU) หรือ สองล้านตู้สินค้า (Container) ขนาด 20 ฟุต ดู http://www.railway.co.th/ticket/CargoContainer.asp
[10] ร.ต.อ.ดร นิติภูมิ นวรัตน์, อุทยานอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในเซินเจิ้น, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันพุธที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
[11] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, สวรรค์บนดิน : ลี่เจียง คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันอังคาร ๑๖ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๑
[12] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์,รถไฟสายตงเป่ยลู่เสี้ยน คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันจันทร์ที่ ๑๔ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑
[13] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, อภิมหาอำนาจใหม่แทนที่สหรัฐฯ (1)คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔
[14] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, บทความเรื่องเส้นสายการเดินทางและคมนาคมสายน้ำ คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันที่ ๑๔-๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓
[15] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, ควรสนใจกลุ่มประเทศ GMS, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันศุกร์ ๑๖ เดือนมกราคม ๒๕๕๒,
[16] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, สะพานแห่งที่ ๓ ถนนหมายเลข ๑๒ คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันจันทร์ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[17] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, ขนสินค้าและผู้คนจากไทยไปจีน (๑), คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, อังคาร ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[18] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, สิงคโปร์เตรียมนักบริหารรุ่นใหม่, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, ศุกร์ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[19] ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์, จากไทย ไปลาว เข้าเวียดนาม ข้ามไปจีน (๒) คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, พุธ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[20] ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์, จากไทย ไปลาว เข้าเวียดนาม ข้ามไปจีน (๓)คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, พฤหัสบดี ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
[21] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, เทมาเส็กจะครอง AEC, พฤหัสบดี ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ อ้างจาก http://www.nitipoom.com/th/article1.asp?idOpenSky=3655&ipagenum=1
[22] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, ไอ้ปื๊ดประเทศของเอ็งล้าหลังแน่, คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ,พฤหัสบดี ๙ ธันวาคม ๒๕๕๓
[23] ร.ต.อ. ดร. นิติภูมิ นวรัตน์, อภิมหาอำนาจใหม่แทนที่สหรัฐฯ (1)คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔
[24] http://www.voicetv.co.th/content/ ขอขอคุณอย่างยิ่ง
[25] ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ จับตาธุรกิจสายการบินในประเทศจีน, www.boi.go.th/thai/.../boitoday_may_7_07.pdf -ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รถไฟความเร็วสูง Maglev จากจีนแผ่ขยายเส้นทางพาดไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.etrain2010.com/etrain/index.php/articles/9-news-and-development-of-others-trains/13-china-thailand เป็นอย่างยิ่ง

รัฐบาลเดินหน้าเชื่อมโครงการรถไฟความเร็วสูงจากจีนผ่านอาเซียน
ความหวังของประเทศไทยที่จะมีระบบขนส่งมวลชนอันทันสมัยสามารถเชื่อมโยงโครง ข่ายได้ครอบคลุมทั่วประเทศ หรืออาจจะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านเริ่มจะมีเค้าลางให้เห็น หลังจากที่รัฐบาลไทยเริ่มเดินหน้าไปเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อหาลู่ทางในการ ร่วมลงทุนและพัฒนาการขนส่งระบบรางในเมืองไทยให้มีประสิทธิภาพ และมีความทันสมัย โดยหวังจะให้เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน ล่าสุดจากการเดินทางไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยิ่งทำให้เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากกรอบการเจรจาระหว่างไทย-จีน ที่จะร่วมมือกันพัฒนาสร้างรางรถไฟขนาดมาตรฐานนั้น คาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายใน 2 สัปดาห์จากนี้ วงเงินร่วมทุนราว 3 แสนล้านบาท ยังไม่รวมแผนลงทุนรถไฟความเร็วสูงของไทยเองอีกราว 2 แสนล้านบาท ก่อนจะนำเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญปี 50 ต่อไป เหตุผลหนึ่งที่ไทยเลือกดึงจีนมาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน เนื่องจากจีนถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบการก่อสร้างและการคมนาคมที่ทัน สมัย การันตีความเป็นที่สุดด้วย รถไฟความเร็วสูงระบบแม่เหล็ก(Magnatic Levitation) หรือ Maglev เป็นรถไฟความเร็วสูง(Hi-speed Train)ที่ใช้ระบบแม่เหล็กขับเคลื่อนโดยปราศจากล้อ และถูกออกแบบมาให้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 500 กม./ชม. ซึ่งขณะที่วิ่งด้วยความเร็วสูงจะมีระยะห่างระหว่างตัวรถกับรางเพียง 10 มม.เท่านั้น และควบคุมการวิ่งโดยระบบคอมพิวเตอร์ ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานขับรถไฟ รถไฟ Maglev ยังได้รับการบันทึกลงใน"กินเนสบุ๊ค เวิลด์ เรคคอร์ด"ว่าเป็นระบบการเดินรถภาคพื้นดินที่เร็วที่สุดในโลก และขณะนี้ถือว่าจีนเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดให้บริการรถไฟ Maglev ในเชิงพาณิชย์ ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ไม่แพ้กันทางด้านเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นและเยอรมนียัง อยู่ในช่วงการทดลองเท่านั้น ปัจจุบัน รถไฟ Maglev เปิดให้บริการเส้นทางเซี่ยงไฮ้-สนามบินผู่ตง ระยะทางราว 30 กม.แต่ยังใช้ระดับความเร็วไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากระยะทางยังยาวไม่เพียงพอ โดยวิ่งอยู่ที่ระดับความเร็วไม่เกิน 430 กม./ชม.ในช่วงเวลากลางวัน และอาจปรับเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาตามความเหมาะสม เช่น ช่วงกลางคืนจะเหลือความเร็วเพียง 300 กม./ชม.ระยะทาง 30 กม.จะใช้เวลาเพียง 7.20 นาทีเท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับการขับรถยนต์อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 40 นาที นายชือ เจี้ยน ชิง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ การรถไฟแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า รถไฟ Maglev ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 47 โดยตั้งแต่เปิดให้บริการมายังไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น สามารถวิ่งได้กับทุกสภาวะแวดล้อมไม่ว่าจะฝนตกหนัก, หิมะตก, ลูกเห็บตก หรือมีพายุ พร้อมยืนยันจุดแข็ง 4 ด้านของ Maglev ว่าสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูง, มีระบบความปลอดภัยสูง, ประหยัดพลังงาน และให้ความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ใช้เม็ดเงินสำหรับการลงทุนก่อสร้างรถไฟ Maglev ระยะทาง 30 กม. ประมาณ 10,000 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือหากคิดเป็นการลงทุนโดยรวมทั้งระบบการบริหารจัดการแล้ว จะเฉลี่ยอยู่ที่ 300 ล้านหยวน/กม. หรือราว 1,500 ล้านบาท/กม. รถไฟ Maglev ในเซี่ยงไฮ้มียอดผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 15,000 เที่ยว/วัน คิดอัตราค่าโดยสารเที่ยวละ 50 หยวน(ประมาณ 250 บาท) แต่ถ้าซื้อตั๋วไป-กลับ จะเหลือเพียง 80 หยวน(ประมาณ 400 บาท)หลังจากเปิดให้บริการมา 7 ปี จนถึง-ขณะนี้ถือว่าเข้าสู่จุดคุ้มทุนแล้ว ในอนาคตจีนมีแผนจะลงทุนขยายเส้นทางรถไฟ Maglev เพิ่มเติม ให้บริการระหว่างเมืองเซี่ยงไฮ้-เมืองหังโจว ระยะทางประมาณ 180 กม.ล่าสุดรัฐบาลจีนอนุมัติเดินหน้าโครงการแล้วและในเส้นทางนี้จะให้บริการ ด้วยความเร็วเต็มศักยภาพที่ 500 กม./ชม.หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะใช้เวลาเดินทางจากเซี่ยงไฮ้-หังโจวเพียง 20 นาทีเท่านั้น นายมาณพ เสงี่ยมบุตร หัวหน้านักวิเคราะห์หุ้นจีน บล.ซีแอลเอสเอ ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ มองว่า การลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนถือว่าประสบความสำเร็จในการเป็นตัวชูธง ของการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีการสร้างงานเกิดขึ้น โครงข่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจให้เกิดชุมชนเมือง มากขึ้น เป็นเครื่องมือกระจายรายได้ที่ดี และที่สำคัญรถไฟความเร็วสูงทำให้เกิดอุตสาหกรรมในเชิงยุทธศาสตร์เกิดขึ้นใน จีนแทนที่จะถูกนำโดยบริษัทข้ามชาติ สำหรับแผนพัฒนาระบบรถไฟของจีนนั้น เดิมกระทรวงการรถไฟตั้งเป้าให้มีเส้นทางเดินรถระยะทาง 120,000 กม.ภายในปี 2020 โดยแบ่งเป็นรถไฟความเร็วสูง 15,000 กม.คิดเป็น 12.5% แต่หลังจากจีนมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2008-2009 ทำให้เป้าหมายดังกล่าวถูกเลื่อนขึ้นมาให้เร็วขึ้นเป็น 5 ปี โดยเมื่อปลายปี 2009 จีนมีรางรถไฟทั้งหมด 86,000 กม.และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 90,000 กม.ภายในปี 2010 คิดเป็นการเติบโตของเส้นทางรถไฟในอีก 5 ปีข้างหน้าเฉลี่ยแล้วปีละ 6% "เมื่อรัฐบาลจีนประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 4 แสนล้าน โดยมีระบบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสัดส่วนถึง 55% โดยในจำนวนนี้มีการลงทุนโครงการรถไฟเป็นตัวเร่งสำคัญ สิ่งที่น่าประทับใจในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของจีนคือ ความมีวิสัยทัศน์ ความแน่วแน่ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ การกำหนดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อสร้างขีดความสามารถการส่งออก ในระยะยาว" นายมาณพ กล่าว ในแง่ของงบประมาณ ปีนี้กระทรวงการรถไฟได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างทางรถไฟและสถานีไว้ราว 7 แสนล้านหยวน ซึ่งยังไม่รวมค่าตัวรถหรือ Multiple Units อีกกว่า 110 ล้านหยวน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งความจำเป็นในการใช้งบประมาณก่อสร้างที่สูงมากนั้น กระทรวงการรถไฟของจีนวางแนวทางแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนไว้หลายวิธี เช่น การออกพันธบัตร, การนำสินทรัพย์ของรถไฟเข้าจดทะเบียน, อนุญาตให้ต่างชาติร่วมลงทุน, การของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง หรือการขึ้นราคาตั๋วรถไฟ เป็นต้น หากจะมองกลับมาที่ไทย หน่วยงานที่จะสามารถทำหน้าที่บริหารจัดการด้านการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง นั้น อาจดูเป็นภารกิจที่หนักอึ้งสำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เพราะลำพังแค่ ให้จัดการคุณภาพการให้บริการและระบบการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารยังทำ ได้ไม่ดีนัก ยังไม่รวมถึงรายได้, ผลประกอบการ, การบริหารจัดการองค์กร และการเป็นองค์กรที่ยังค่อนข้างอิงกับกลุ่มก้อนทางการเมือง ดังนั้น ทางเลือกหนึ่งที่นอกเหนือไปจากการที่ไทยจะร่วมทุนกับต่างชาติในการพัฒนาการ คมนาคมขนส่งในระบบราง รวมทั้งการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงแล้ว นั่นคือ การแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ รฟท.ได้เปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการระดมทุนเพื่อนำเม็ดเงินมาใช้ลงทุนในโครงการพัฒนาขนาด ใหญ่ต่างๆ "เป็นโอกาสดีที่ไทยจะใช้การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงมาช่วยกระตุ้น การพัฒนาตลาดทุนไทย เพราะเป็นโครงการที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก...การรถไฟฯ อาจจะต้องแปรรูป และเข้าตลาด เพื่อจะระดมทุนได้ง่ายกว่า" นายมาณพ กล่าว ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)มองว่า การลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยนั้น หากจะยกให้ รฟท.เป็นแม่งานบริหารจัดการก็คงทำให้โครงการดังกล่าวเป็นจริงได้ยาก เนื่องจาก รฟท.ยังขาดประสิทธิภาพด้านความรู้และความชำนาญเทคโนโลยีระดับสูง แต่หากจะให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มาเป็นแม่งานก็ยังติดปัญหาในด้านข้อกฎหมาย เนื่องจาก รฟม.ได้สิทธิเดินรถไฟฟ้าใต้ดินเท่านั้น หากเป็นการเดินรถไฟบนดินจะต้องเป็นสิทธิของ รฟท.เพียงผู้เดียว "เราคงฝากความหวังของประเทศไทยไว้กับการรถไฟฯ ไม่ได้แน่นอน คงต้องตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ อาจเป็นการร่วมทุนกับจีน เพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง" แหล่งข่าวจาก สคร.กล่าว ส่วนกรณีการร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งจีนเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่ไทยคิดจะขอให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วยนั้น จะทำให้ไทยเองได้มีโอกาสพัฒนาการขนส่งในระบบรางให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยสนับสนุนศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว จากการที่จะมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เหนือจรดใต้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ด้านนายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร กงศุลฝ่ายการพาณิชย์ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มองว่าการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติแก่ ประเทศไทย เม็ดเงินลงทุนมหาศาลจะช่วยให้เกิดการสร้างงาน และเป็นเม็ดเงินที่มาช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยให้ก้าวไปอีกขั้น และช่วยเชื่อมโยงเศรษฐกิจของจีนกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้คือเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะโครงการลงทุนก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินมหาศาลในระดับนี้จำเป็นต้อง อาศัยความต่อเนื่องในนโยบายภาครัฐ หากเป็นไปได้ก็ควรจะผลักดันให้โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเข้ามาเป็น หนึ่งในวาระแห่งชาติด้วย จากนี้ไปการพัฒนาการขนส่งระบบรางและการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงคง เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างรอคอยดูว่าในอนาคตข้างหน้า"รถไฟความเร็วสูง"กับประเทศ ไทย จะเป็น"ความหวัง"หรือแค่"ความฝัน"ประเทศไทยจะตกขบวนหรือจะแซงหน้าการพัฒนา ขีดความสามารถระบบขนส่งและโลจิสติกส์ในอาเซียนได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าติดตามอย่างยิ่ง.

ขอขอบคุณ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 7 กันยายน 2553 11:32:03 น. http://www.ryt9.com/s/iq03/979514

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข่าว: ไทยเป็นเจ้าภาพหลัก การประชุมท่องเที่ยวอาเซียนแบรนด์

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.ryt9.com/s/prg/1005787
นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในนามประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The ASEAN Tourism Task Force Meetings ระหว่างวันที่ 10 - 14 ตุลาคม 2553 และเป็นประธานการแถลงข่าวผลการประชุมคณะทำงานการท่องเที่ยวอาเซียน ณ ห้องบัวสวรรค์ โรงแรมพูลแมน พัทยา ไอศวรรย์ (Pullman Pattaya Aisawan Hotel) พัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันพุธที่ 13 ตุลาคม 2553
นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ กล่าวว่า ประเทศกลุ่มอาเซียน หรือที่เรียกว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN : Association of South East Asian Nations) เป็นองค์การทางภูมิศาสตร์การเมืองและองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพ/ความมั่นคงในพื้นที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ มีประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนร์ม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานการท่องเที่ยวอาเซียน ระหว่างวันที่ 10 - 14 ตุลาคม 2553 โดยสามารถสรุปสาระการประชุม ดังนี้
1) กำหนดให้มีการบริการท่องเที่ยว และมีการแข่งขันในเชิงคุณภาพ เพื่อให้อาเซียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับโลก รวมถึงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในนามของอาเซียน (ASEAN Brand) โดยภายในปี 2011 (พ.ศ. 2554) ที่ประชุมเห็นชอบให้เปลี่ยน Theme จากVisit ASEAN เป็น Visit Southeast Asia, Feel the Warmth ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากกว่าคำว่า ASEAN
2) ประเทศในฐานะประธานคณะทำงานมาตรฐานการท่องเที่ยวของอาเซียน ได้ริเริ่มกำหนดมาตรฐานโรงแรมสีเขียว (ASEAN Green Hotel) ตั้งแต่ปี 2551 รวมถึง กำหนดมาตรฐานบุคลากร เพื่อยกระดับมาตรฐานของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว โดยการจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับในมาตรฐานร่วมกันในวิชาชีพสาขาการท่องเที่ยว ASEAN MRA (ASEAN Mutual Recognition Arrangement) ซึ่งแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ พนักงานในสำนักงาน (Front Office) พนักงานทำความสะอาด (House Keeping) ผู้ผลิตอาหาร (Food Production) ผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage Services) ตัวแทนนำเที่ยว (Travel Agencies) และผู้ประกอบการท่องเที่ยว (Tour Operation/Tour Agencies)
3) การพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ATSP (ASEAN Tourism Strategic Plan 2010 — 2015) ร่วมกัน โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างของคณะทำงาน เพื่อมุ่งเน้นการตลาดและการสื่อสาร(Marketing and Communications) ด้านการท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality Tourism) และการพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยว (Tourism Product Development) ในภูมิภาคอาเซียน
4) ประเทศสมาชิกอาเซียน กล่าวถึงประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง โดยมีทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวที่หลากหลาย และในหลายแห่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ส่วนมากจะมาซ้ำเป็นประจำทุกปี
5) การเปิดเสรีสาขาท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยและสมาชิกอาเซียน มีโอกาสเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่จำกัดจำนวน อาจส่งผลกระทบทำให้แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม และอาจกลายเป็นจุดอ่อนของภูมิภาคอาเซียนได้ ดังนั้นควรมีกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในกลุ่มนักท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
6) เน้นการทำตลาดร่วมกันในกลุ่มประกาศสมาชิกอาเซียน เพื่อเป็น Single Destination และเน้นการท่องเที่ยวคุณภาพโดยส่งเสริมการสร้างมาตรฐาน โรงแรม อาหาร และโฮมสเตย์ ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ท่องเที่ยวอาเซียน
7) เน้นการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาต่างประเทศที่หลากหลาย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่า ภาษารัสเซีย ภาษาเกาหลี ภาษาสเปน เป็นต้น
8) ตกลงจัดกิจกรรมร่วมกันโดยก่อตั้ง ศูนย์ท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Center) เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอาเซียนพร้อมเน้นการทำตลาดกับกลุ่มเยาวชนในรูปแบบแค้มป์เยาวชนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น
9) กำหนดมาตรฐาน กรีนโฮเต็ล (Green Hotel) และมาตรฐานด้านบริการอาหารและเครื่องดื่ม (ASEAN Local Food and Beverage Service) พร้อมกับการกำหนดโลโก้มาตรฐานอาเซียน
10) การพัฒนาการสื่อสารผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต (Internet) เพื่อการเข้าถึงและเยี่ยมชมเว็บไซด์ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ชื่อ www.asean-tourism.org
11) ขยายเครือข่ายความร่วมมือการลงทุนด้านการท่องเที่ยวสู่กลุ่มประเทศอาเซียน+3 หรือ APT (The ASEAN Plus Three: China, Japan and the Republic of Korea) และ อาเซียน+6 หรือ APS (The ASEAN Plus Six: China, Japan, the Republic of Korea, India, Australia, and New Zealand)
ทั้งนี้หลังจากประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาในขั้นสุดท้ายแล้วจะได้นำเสนอข้อสรุปต่อที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ณ ประเทศกัมพูชา ในช่วงเดือนมกราคม 2554 ต่อไป
รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปิดท้ายว่า ที่ประชุมยังรับทราบสถิตินักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกที่เข้ามาท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนในปี 2553 มีทั้งสิ้น 51.3 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวยังกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนอินโดนีเซียรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวมาบาหลีวันละ 5,000 - 6,000 คน ด้านลาวมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปี 2552 สำหรับมาเลเซียมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1.4 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเอเชียและกลุ่มภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ส่วนเมียนร์ม่ามีนักท่องเที่ยว 280,000 คน ด้านฟิลิปปินส์ มีนักท่องเที่ยว 2.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 สำหรับสิงคโปร์ มีนักท่องเที่ยว 8.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.2 ทางด้านเวียดนามมีนักท่องเที่ยว 3.5 ล้านคน และไทยในปี 2552 มี 14.10 ล้านคน คาดว่าปี 2553 จะมี 15 ล้านคน โดย 9 เดือนแรกของปี 2553 ไทยมีนักท่องเที่ยวจำนวน 11.20 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3

ASEAN - REPUBLIC OF KOREA plan of action to inplement the joint Declaration on strategic partnership for peace and prosperity(2011-2015)

By Chủ nhật, 00:35, 31/10/2010
In welcoming the elevation of the dialogue relations between Member States of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) and the Republic of Korea (ROK), the Leaders of ASEAN and the ROK adopted the Joint Declaration on Strategic Partnership for Peace and Prosperity at the 13th ASEAN-ROK Summit on 29 October 2010 in Ha Noi, Socialist Republic of Viet Nam. Satisfied with the close and progressive cooperation that ASEAN and the ROK have forged since the establishment of the dialogue relations in 1989, the Leaders agreed upon strategic areas of future cooperation covering political, economic, environmental, social, cultural fields and on regional and global issues.

The Leader of the ROK reaffirmed his support for the Bali Concord II signed on 7 October 2003 and the Cha-Am Hua Hin Declaration on the Roadmap for the ASEAN Community (2009-2015) signed on 1st March 2009 by the ASEAN Leaders to realise the ASEAN Community by narrowing the development gaps within ASEAN and accelerating integration of ASEAN. The Leaders of ASEAN and the ROK at the 13th ASEAN-ROK Summit on 29 October 2010 in Ha Noi, Socialist Republic of Viet Nam, adopted this ASEAN-ROK Plan of Action to provide concrete actions and initiatives for realising their commitments as reflected in the Joint Declaration in conformity with their obligations under international law and in accordance with their domestic laws and policies.1. Political and Security Cooperation1.1 Expanding Exchanges in the Political and Security Field:1.1.1 Continue high-level contacts between ASEAN and the ROK through existing bilateral, regional and multilateral mechanisms within the frameworks of ASEAN, ASEAN Plus Three (APT), and ASEAN Regional Forum (ARF) and increase exchanges between officials in the political and security areas;
1.1.2 Work towards contributing to the realisation of the goals and objectives as set out in the ARF Vision Statement and its Plan of Action in support of strengthening the ARF;
1.1.3 Promote concrete cooperation projects within the ARF including cooperation in cyber-security and countering cyber-terrorism;
1.1.4 Continue the ASEAN-ROK Future-Oriented Cooperation Project, which promotes exchanges between diplomats and government officials of both sides, and extend the Project to cover exchanges among officials in the political, national security and national defence fields;
1.1.5 Strengthen cooperation between ASEAN and the ROK government-affiliated research institutes in the political and security fields such as the ASEAN-Institute of Strategic and International Studies (ASEAN-ISIS) through exchange of experts, joint research projects and joint seminars; and
1.1.6 Promote linkages and increase exchange visits among military and security training institutions to enhance cooperation in the region.
1.2 Strengthen cooperation and increase consultation through the ARF and the APT process with a view to achieving peace, security and stability in the region.
1.3 Promote the ARF and the ADMM-Plus as useful platforms for security cooperation, in particular for forging practical cooperation to address the security challenges facing the region.
1.4 Explore ways to establish ASEAN-ROK security-related dialogue through existing ASEAN-ROK consultation channels such as ASEAN-ROK Dialogue.
1.5 Enhance multilateral and regional cooperation aimed at non-proliferation of weapons of mass destruction (WMD) and their means of delivery, including related materials in line with the relevant international conventions and treaties and support the implementation of the Treaty on the Southeast Asia Nuclear Weapons Free Zone (SEANWFZ).
1.6 Promote and enhance cooperation on Human Rights, Good Governance, Democracy and Rule of Law through, among others, the following: 1.6.1 Collaborate with ASEAN on human rights through regional dialogues, seminars and workshops, education and awareness raising activities, as well as exchange of best practices and other capacity building initiatives aimed at enhancing the promotion and protection of human rights and fundamental freedoms;
1.6.2 Support the work of the ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights (AICHR), which is the first regional mechanism and overarching institution for the promotion and protection of human rights in ASEAN, and its work plan and cooperate in multilateral fora including the Bali Democracy Forum and the UN Human Rights Council;
1.6.3 Support the work of the ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children (ACWC);
1.6.4 Promote sharing of experiences and best practices through workshops and seminars on good governance, democracy and human rights; and
1.6.5 Strengthen and deepen cooperation with ASEAN against corruption, through, inter-alia, encouraging the ratification or accession to, and implementation of the UN Convention Against Corruption (UNCAC).
1.7 Promote and enhance cooperation in combating terrorism and transnational crimes:1.7.1 Strengthen cooperation in combating terrorism in a comprehensive manner at bilateral, regional and international levels including the ASEAN-ROK Dialogue as well as other regional frameworks such as the ARF and the APT process, and the UN;
1.7.2 Enhance the regional capacity to combat terrorism and other transnational crimes by exchanging information, sharing best practices and expertise, strengthening capacity building among their law enforcement agencies making use of the existing centres in ASEAN such as the International Law Enforcement Academy (ILEA) in Thailand, the Southeast Asia Regional Centre for Counter-Terrorism (SEARCCT) in Malaysia and the Jakarta Centre for Law Enforcement Cooperation (JCLEC) in Indonesia;
1.7.3 Strengthen cooperation in the eight priority areas of ASEAN and ASEAN Plus Three cooperation namely terrorism, trafficking in persons, arms smuggling, sea piracy, money laundering, illicit drug trafficking, international economic crime and cyber crime through the ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime (AMMTC), the Senior Officials Meeting on Transnational Crime (SOMTC), the ASEAN Plus Three process and other mechanisms;
1.7.4 Develop a framework for cooperation to effectively implement the ASEAN-ROK Joint Declaration for Cooperation to Combat International Terrorism through SOMTC+ROK Consultation and other existing mechanisms, and closely cooperate in the fields of immigration controls, law enforcement, transport security, and prevention of financing of terrorists, capacity building and related organisations;
1.7.5 Further strengthen cooperation in drug detection and forensic tools development, in particular forensic management; and
1.7.6 Cooperate and coordinate to effectively prevent, disrupt and combat transnational crime, including trafficking in persons, arms smuggling, and cyber crime through sharing of information, intelligence and best practices, promoting cyber security, technology transfer, strengthening trainers’ networks, technical assistance and capacity building in the area of law enforcement.
1.8 Promote cooperation on maritime issues, including security:
1.8.1 Increase and enhance cooperation in the fields of maritime security and safety, and marine environmental protection in accordance with international law by promoting capacity building, training and technical cooperation, information sharing, intelligence exchange, sharing best practices and knowledge as well as other appropriate forms of cooperation respecting the principle of sovereignty, equality, territorial integrity and non-intervention in the domestic affairs of other States and bearing in mind the primary responsibilities of the littoral States in this matter.
1.9 Promote the role of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia (TAC) as the code of conduct for inter-state relations in Southeast Asia as well as encourage other countries outside the region to accede to the Treaty to further promote regional peace, security, stability, prosperity, mutual confidence and trust.
1.10 Promote the principles of sovereign equality, territorial integrity and non-interference in the internal affairs of other States as envisaged in the TAC.
2. Economic Cooperation 2.1 Consultation Channels for Economic Cooperation:
2.1.1 Enhance consultation to establish comprehensive economic cooperative relations through the existing ASEAN Economic Ministers-ROK (AEM-ROK) Consultations, the Senior Economic Officials’ Meeting (SEOM)-ROK Consultations and between respective ASEAN sectoral and other bodies and the ROK in areas such as finance, construction and transportation, agriculture and commodities, labour, tourism, energy, Information and Communications Technology (ICT), forestry, mining and fisheries;
2.1.2 Promote cooperation and exchanges between business organisations of ASEAN and the ROK to pursue closer private sector collaboration;
2.1.3 Strengthen cooperation of private sector within the context of East Asia Business Council (EABC) with the view to promoting greater linkages between firms in ASEAN, the Republic of Korea, Japan and China; and
2.1.4 Continue cooperation to help the ASEAN-Korea Centre serve as an effective channel for the enhancement of trade, investment, tourism and culture between ASEAN and the ROK. Utilise the ASEAN-Korea Centre to facilitate promotional activities for ASEAN-ROK Free Trade Agreement (AKFTA), trade and investment, including product exhibitions, exchange of trade and investment missions, and exchange of information on trade and investment.
2.2 ASEAN-ROK Free Trade Agreement (AKFTA):
2.2.1 Ensure the implementation and expand areas of economic cooperation, including cooperation projects referred to in Chapter 3 of the AKFTA in support of the AKFTA under the Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation (CEC) between ASEAN and the ROK and its Annex;
2.2.2 Complete the tariff liberalization within the agreed timeframes and pursue further liberalisation in accordance with the relevant provisions of the ASEAN-ROK Trade in Goods Agreement;
2.2.3 Fully engage in the consultation process of the Implementing Committee in order to monitor and improve the implementation of the AKFTA; and
2.2.4 Disseminate information of the AKFTA to the business community and achieve maximum utilisation of the Agreement by making the implementation procedures of the AKFTA more business-friendly, including through the ASEAN-Korea Centre.
2.3 ASEAN-ROK Economic Cooperation Fund:
2.3.1 Closely monitor the implementation of the ASEAN-ROK economic cooperation projects and develop guidelines for improved project selection and impact assessment; and
2.3.2 Augment and strengthen funding mechanisms such as ASEAN-ROK Economic Cooperation Fund to explore ways to expand cooperative activities.
2.4 Trade Promotion Activities:
2.4.1 Make mutual efforts to expand trade through various avenues such as goods exhibitions and expositions as well as through the exchange of trade delegations;
2.4.2 Facilitate the increased entry of ASEAN imports, especially agricultural products, into the ROK market; and
2.4.3 Support continued participation of the ASEAN Chair in the future G-20 Summits, and their related meetings as appropriate, on a regular basis.
2.5 Customs Cooperation:
2.5.1 Promote exchange of information, subject to the national laws of each side and with the exception of confidential information, on the respective customs procedures, enforcement and risk management techniques in the ASEAN and the ROK;
2.5.2 Promote secure and efficient trade between ASEAN and the ROK through supply chain security measures in accordance with international agreements;
2.5.3 Continue consultations and cooperation within the ASEAN-ROK Customs Consultation with a view to enhancing policy coordination in the customs areas;
2.5.4 The ROK will provide training opportunities for ASEAN customs officials to share expertise on streamlining and simplification of customs procedures;
2.5.5 Endeavour to promote application of information technology in customs procedures to facilitate trade; and
2.5.6 Strengthen customs cooperation between ASEAN and the ROK to improve utilisation of the AKFTA, including exchanging customs experts.
2.6 Investment Promotion:
2.6.1 Enhance cooperation through the existing dialogue mechanisms and the ASEAN Plus Three process to develop cooperative measures and actions for promoting mutual investment, conducting capacity building activities, exchanges of experts and sharing related experiences, technology, information and policies;
2.6.2 The ROK will conduct investment missions into ASEAN and encourage more private companies from the ROK to invest in ASEAN Member States and vice versa;
2.6.3 Hold the ASEAN-Korea CEO Summit in the ROK and ASEAN, when appropriate, among others, with the proposal of active participation by the SMEs, to strengthen business networks and promote trade opportunities following the successful outcome of the inaugural CEO Summit held in Jeju Island in June 2009;
2.6.4 Encourage the establishment of an ASEAN-Korea Business Council which should be private sector driven and not government imposed, to promote their active involvement in the implementation, inter alia, of the AEC Blueprint and AKFTA and to organise promotional activities;
2.6.5 ASEAN will take measures to further improve its investment environment, so as to draw additional investments from outside the region, including the ROK;
2.6.6 Promote close cooperation by introducing environment friendly technology and undertaking cooperative projects and studies to deal with climate change and in exchange programmes related to reducing green house gas emissions on the basis of training, education and public awareness on climate change mitigation; and
2.6.7 Support rural household electrification programmes of CLMV, including solar, bio mass, bio gas, micro hydro and off-grid electrification.
2.7 Financial Cooperation:
2.7.1 Strengthen cooperation within the ASEAN Plus Three Finance Ministers’ Meeting (AFMM+3) Process to support stable economic growth in the region;
2.7.2 Support the development and growth of the Asian bond markets for the security and advancement of the region’s financial market; including exploring creative and innovative and mutually beneficial approach to push forward the Asian Bond Markets Initiative (ABMI) in line with the new ABMI Roadmap to lay foundation for the development and expansion of regional bond markets through mobilization of savings for productive investments, particularly infrastructure development, to spur regional growth;
2.7.3 Enhance regional financial stability through Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM), the Asian Bond Markets Initiative (ABMI), including the Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) and the enhancement of the macroeconomic surveillance in the region;
2.7.4 Actively participate in policy dialogue on macroeconomic and financial policies to reinforce economic and financial integration in the region;
2.7.5 Undertake proactive and decisive policy actions to restore market confidence and ensure continued financial stability to promote sustainable economic growth; and
2.7.6 Cooperate in building up capacity of Cambodia, Lao PDR, Myanmar, and Viet Nam (CLMV) in the fields of analysis, policy-planning, and human resources development.
2.8 Energy Security:
2.8.1 Promote close cooperation between ASEAN and the ROK to enhance capacity building of energy security including in the areas of institutional framework, technology transfer through workshops, seminars, and dispatch of technical experts;
2.8.2 Strengthen cooperation in renewable energy technology and alternative energy and energy efficiency in order to reduce the usage of fossil fuels;
2.8.3 Cooperate closely in the research and development of renewable and alternative energy, such as wind, solar, hydro, bio, civilian nuclear energy, and vehicle engine compatible to biofuel; and expand cooperation on the Clean Development Mechanism (CDM); and
2.8.4 Collaborate between the institutions of both sides to enhance energy efficiency by increasing exchange of expertise in the related fields.
2.9 Infrastructure Development:
2.9.1 The ROK will support the implementation of the Master Plan on Connectivity developed by ASEAN which will enhance linkages between South East Asia and beyond;
2.9.2 Pursue ways to strengthen policy consultation and the exchange of information and technology in the areas of airport facilities, city development and other infrastructures, such as the “ASEAN Highway Network Development Project.” To this end, ASEAN and the ROK will cooperate to conduct seminars and exchange of experts;
2.9.3 The ROK will support the efforts of the respective countries to establish the Singapore-Kunming Rail Link, and cooperate to provide technical and financial assistance such as by participating in feasibility study projects, etc; and
2.9.4 Enhance technical cooperation and promote capacity building in infrastructure, including the planning, design, construction and maintenance of roads, bridges, tunnels, railways, ports and the development of smart transport systems.
2.10 Cooperation on Construction, Distribution and Transportation:
2.10.1 Cooperate for the implementation of the Framework of Transport Cooperation between Transport Authorities of ASEAN and the Ministry of Land, Transport and Maritime Affairs of the ROK, which was adopted in December 2009, and the ASEAN-ROK Transport Cooperation Roadmap;
2.10.2 Forge closer cooperation to enhance transport infrastructure, networks, and operations, including air, maritime, road, rail, and multi-modal transport for fast, efficient, safe, and secure movement of goods and people in the region;
2.10.3 Exchange information, experiences, and best practices in transport operation, infrastructure development, and safety measures;
2.10.4 Need to establish a cooperative system between ASEAN and the ROK that covers all modes of transportation, including logistics;
2.10.5 Strengthen competitiveness and efficiency in logistics in terms of operation, related equipment by promoting exchanges of experts and information, and by sharing experiences and technology in the related policies;
2.10.6 Exchange experts, information and experiences on the Intelligence Transport System (ITS) and Database (DB) system in the transportation field in order to improve traffic flow and to enhance the effectiveness of transportation related policies;
2.10.7 Encourage dialogue between governments and related businesses to exchange information and technology; cooperate to share experiences and best practices in order to establish standard specifications in the fields of railway, subways, Light Rail Transit (LRT) and others;
2.10.8 Cooperate to improve the safety of automobiles through the development of safety standards in accordance with international standards set by the Working Party 29: World Forum for Harmonisation of Vehicle Regulation, promotion of communication between governments and related businesses to strengthen the competitiveness of the automobile industry and exchange visits of experts, and share experiences and best practices;
2.10.9 Deepen cooperation in the area of aviation through concluding an air services agreement between ASEAN and the ROK for both air passenger and air freight services between ASEAN and the ROK;
2.10.10 Explore the establishment of a framework for strengthening ASEAN-ROK sea transport cooperation;
2.10.11 Promote ASEAN-ROK sea transport cooperation through effective measures to ensure navigation safety, encourage information sharing, enhance port linkages and promote human resource development; and
2.10.12 Promote ship building manufacture by technological transfer and exchange of know-how.
2.11 Food, Agriculture and Forestry:
2.11.1 Enhance cooperation in the field of agriculture through the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry (AMAF) Plus Three and implement major agreements reached at this meeting;
2.11.2 Endeavour to launch cooperation projects to exchange information and technology, and to develop joint-research and development projects in the fields of food production, poverty alleviation, agricultural and livestock industry, agricultural machinery, agricultural products marketing, improvement of agricultural infrastructure by encouraging more investment and involvement of private sector and development of rural areas;
2.11.3 Develop joint collaborative projects in post-harvest technology, including food storage, processing and distribution;
2.11.4 The ROK will continue to contribute to ASEAN’s efforts on enhancing human resources development in the agriculture, forestry, livestock and fisheries sectors through programmes such as organising workshops in ASEAN Member States, the dispatch of experts, exchanges of know-how and best practices on enhancing the agricultural productivities, post harvest handling, food security, and providing opportunities for ASEAN young farmers to learn techniques, management and farm working practices;
2.11.5 Encourage the progress of agriculture-related industries such as agricultural technologies and crop varieties development and breeding technologies through the conduct of exhibitions, expositions and seminars; and
2.11.6 Provide technical assistance for research and development in the area of conservation and sustainable use of agricultural land and plant genetic resources.
2.12 Marine Affairs and Fisheries: 2.12.1 Make mutual efforts to exchange information and expertise in the fields of fisheries, deep sea fisheries, aquaculture, sea farming, quality control, processing and distribution of marine and fisheries products, and postharvest technology;
2.12.2 Develop measures to harmonise the technological standards of marine and fisheries products in order to promote trade in this field between ASEAN and the ROK; and
2.12.3 Undertake cooperative measures to develop human resources and promote investment in the related industries of fisheries in the ASEAN Member States.
2.13 Narrowing the Information Gap and Strengthening Competitiveness in ICT:
2.13.1 The ROK will cooperate closely in building IT infrastructure and in developing policies and human resources to narrow development gap in the IT sector among ASEAN Member States, as part of the “Special Cooperative Project for narrowing East Asia Information Gap” which was adopted at the 6th ASEAN Plus Three Senior Economic Officials Meeting in 2002;
2.13.2 The ROK will create an educational environment that fosters the improvement of IT capacity in ASEAN Member States, particularly for disadvantaged groups, by providing more ICT electronic infrastructure access and facilities including the Information Access Centres, particularly to CLMV and the less-developed areas of ASEAN Member States;
2.13.3 The ROK will cooperate to nourish effective IT policy development of ASEAN by sharing information and experiences with IT policy makers and experts from ASEAN Member States;
2.13.4 Further strengthen the consultations and advance joint programmes and initiatives in building the ICT knowledge partnership between ASEAN and the ROK, ICT human resource development, information security, e-government, digital convergence and collaboration to address new challenges brought about by technology changes;
2.13.5 The ROK will assist in the wide distribution of information technology throughout the ASEAN Member States by holding computer and internet training sessions for local residents with the help of World Friends Korea who are dispatched to each ASEAN Member State for foreign internet training;
2.13.6 The ROK will lend support to students of ASEAN Member States so that they can complete their undergraduate programme pursue master’s/post-graduate studies, in the field of IT at Korea’s major universities including Seoul National University and Korea Advanced Institute of Science and Technology;
2.13.7 Work towards establishing a region-wide IT network given the ROK’s capacity in IT, including digital media, animation, film production, gaming technology and comics; and
2.13.8 Promote and support the implementation of the ASEAN ICT Master Plan 2009-2015.
2.14 Strengthening Competitiveness in Science and Technology:
2.14.1 The ROK will assist in promoting exchange of information to strengthen scientific technology competitiveness, and developing technology management and innovation to build the capabilities of Science & Technology experts and officials in ASEAN;
2.14.2 Implement joint efforts to enhance economic growth and ASEAN’s community well being by intensifying cooperation activities, promoting R&D collaboration, and technology development in the areas of food technology, new materials, micro-electronics, non-conventional energy, meteorology, advanced materials technology, environment technology, biotechnology, nanotechnology, space technology and applications and other high value-added industries, especially latest technology of marine biology or genetic engineering; and
2.14.3 Promote joint research and young generation scientists exchange programmes, including the gifted in science.
2.15 Fostering Small and Medium Enterprises:
2.15.1 The ROK will assist ASEAN in implementing the Strategic Action Plan for ASEAN SME Development 2010-2015;
2.15.2 Initiate discussions for developing effective measures to foster small and medium-sized enterprises, particularly within ASEAN local communities;
2.15.3 Support SMEs to gain access to the international market and enjoy the benefits of the AKFTA; and
2.15.4 Cooperate for a more efficient ASEAN Plus Three cooperation, particularly on ROK-led initiatives to build up networks among ASEAN and ROK SMEs.
2.16 Cooperation in the Field of Labour:2.16.1 Develop "More and Better Jobs" through training programmes and the exchange of experts in the fields of labour standards, labour relations, labour market information, gender equality in employment, as well as development of vocational skills;
2.16.2 Enhance cooperation between ASEAN and the ROK on migrant workers in order to optimise the productivity for the benefit of both the employers and the employee;
2.16.3 Explore cooperation between ASEAN and the ROK on the comprehensive management of migration, especially on the promotion of legal migration through, inter alia, policy dialogue and sharing of best practices;
2.16.4 Continue expanding the Official Development Assistance (ODA) for sustainable economic and social development and poverty alleviation in the ASEAN Member States, especially in the less-developed countries of ASEAN;
2.16.5 The ROK will share its development experience and to expand training and capacity-building programmes for the development of human resources, and overseas volunteer programmes. At the ASEAN-ROK Commemorative Summit in 2009, the ROK announced its plans to invite 7,000 trainees from ASEAN Member States over the next seven years; and
2.16.6 Continue the annual Human Resources Development Programme for Officials of ASEAN Member States, including setting up networks among the students, experts and researchers who graduated from the ROK, bearing in mind the priorities for human resource development emphasised by the ASEAN Labour Ministers in the context of globalisation, HRD planning and labour market monitoring, enhancing labour mobility, strengthening social security and tripartite cooperation.
2.17 Enhancing Cooperation in Tourism:2.17.1 Strengthen cooperation to implement the ASEAN Tourism Strategic Plan for 2011-2015 through joint programs on marketing and promotions, human resources development, travel and investment facilitation, research and study on the outbound market and characteristics of Korean tourists;
2.17.2 Promote cooperation in tourism by strengthening related networks in the government and private sector to regularly exchange information on tourism and cooperate to develop efficient policies for the advancement of the tourism industry;
2.17.3 Pursue, with a view to promoting ASEAN’s tourism industry, diverse projects utilising ASEAN’s rich cultural heritage such as the creation of a “Cultural Map of ASEAN”; 2.17.4 Jointly cooperate in developing exchange programmes, tourism professional capacity building, sustainable tourism destination management and development strategic planning to foster professionalism in the tourism industry. As a part of these efforts, the ROK will continuously provide education programmes on Korean language and Korean culture for ASEAN tourism professionals and to encourage Koreans to travel to ASEAN Member States; and
2.17.5 Continue cooperation to help the ASEAN-Korea Centre serve as a focal point for the enhancement of tourism and cultural exchanges between ASEAN and the ROK.
2.18 Food Safety and Food Security:
2.18.1 Closely and actively cooperate in promoting mutual understanding of their respective policies and regulations in the areas of food safety, animal (including fish) and plant quarantine and disease control;
2.18.2 Share information and technologies in the related areas;
2.18.3 Develop human resources in the field of quarantine and inspection through efforts such as organising training programs and workshops for ASEAN;
2.18.4 Work towards the early conclusion of the Agreement on ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR) to ensure food security in the region; and
2.18.5 Share each other’s expertise to enhance technology on food safety and quality assurance standards, post harvest technique and biotechnology, in line with the ASEAN Integrated Food Security (AIFS) Framework.
3. Socio-Cultural Cooperation
3.1 ASEAN-ROK Future-Oriented Cooperation Project (FOCP) Fund:
3.1.1 Actively and continuously conduct future-oriented cooperation projects to promote and strengthen people-to-people exchanges in the fields of culture, media, education, and the arts, and encourage mutual understanding among the peoples of ASEAN and the ROK; and
3.1.2 Make efforts to improve the efficiency of exchange programmes for government officials and educational programmes for junior or mid-level diplomats through the FOCP to encourage mutual understanding among government officials from ASEAN and the ROK.
3.2 Increase Understanding and Awareness between ASEAN and the ROK:
3.2.1 Promote exchange activities including Korea-ASEAN Cooperation Forum (KACF) with a view to further deepening mutual understanding;
3.2.2 The ROK will initiate and continue various programmes for Koreans and people of ASEAN Member States to mutually experience each others’ culture through the "Korea Foundation Cultural Centre” in Seoul, which was established in 2005;
3.2.3 Promote greater exchanges of students and teachers to facilitate the sharing of experiences for further cross-cultural understanding between ASEAN and the ROK;
3.2.4 Encourage the ROK to increase the number of scholarships to ASEAN and ROK students to pursue tertiary education, and to promote ASEAN studies in the ROK and Korean studies in ASEAN;
3.2.5 Organise activities in ASEAN and the ROK to promote public awareness on ASEAN-ROK relations, including regular media and information exchanges, networking and strengthening human resource development in the field of information through the cooperation and assistance of the ASEAN-Korea Centre; and
3.2.6 Strengthen and broaden the network beyond government institutions to the parliamentarians, business circles and other stakeholders.
3.3 Exchange in the fields of Culture and Arts:
3.3.1 Increase culture and arts networking and exchange and human resource development through the reciprocal holding of exhibitions, cultural performances, youth and female personnel exchange programme, cultural awareness promotions and other similar projects;
3.3.2 Provide further opportunities to share experiences and best practices on creating and implementing culture and arts policies, and encourage people-to-people exchange in various fields of culture and arts, such as performance art and cultural heritage; and
3.3.3 Increase exchanges of experiences and information in the field of art management by holding workshops and networking the professionals in this area in order to promote the culture and arts industry in both ASEAN and the ROK.
3.4 Consular Cooperation
3.4.1 Strengthen consular cooperation, in the protection of our nationals, including tourists, business people, officials who are travelling to ASEAN and the ROK as well as permanent residents, workers residing in the ASEAN Member States and the ROK, without impinging on the sovereignty of ASEAN Member States and the ROK in upholding their domestic laws and policies.
3.5 Exchange of Mass Media:
3.5.1 Encourage mutual participation in International Film Festivals that are held in ASEAN and the ROK and increase exchange of popular culture through instruments such as films, TV programmes and print media;
3.5.2 The ROK will extend training programmes that invite ASEAN experts and students in the fields of TV, film, theatre, dance, and music production to cooperate in the development of human resources of ASEAN popular culture; and
3.5.3 Promote exchange and closer cooperation in broadcasting to contribute to the broadcasting industry development and to enhance the cultural diversity of the ROK and ASEAN.
3.6 Preservation of Cultural Heritage:
3.6.1 Strengthen joint research on the preservation and conservation of cultural heritage; and
3.6.2 The ROK will support the capacity building of ASEAN experts in the field of cultural heritage preservation through the "Asia Cooperation Programme in Conservation Science.”
3.7 Expanding Youth Exchanges:
3.7.1 Continue to implement the "ASEAN-Korea Youth Exchange Programme" which has been held annually since 1998, and strengthen follow-up measures, such as the establishment of networks among participants, so as to encourage continued interaction among the participating youths, including exchanges of young scholars, young business people and young officials;
3.7.2 Jointly organise a variety of programmes and activities such as the "ASEAN Youth Camp" for youths and future leaders, facilitating interactions among the private and public sectors of both sides and the young leaders of civic organisations;
3.7.3 Focus on implementing cooperation areas agreed at the ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting on Youth (SOMY) to enhance coherence of youth policies and cooperation; and
3.7.4 Continue to implement, expand and develop various programmes involving the ASEAN-ROK youth, such as young parliamentarians, legislators and local community leaders, young good-will ambassadors, community based adventure activities, ASEAN-ROK young volunteers, young and upcoming new talents including artistes, young sportsmen, exchange and attachment of the academic staff of the learning institutions, including research centres, study visits or programme for youth and women and exchange programme for civil society organisations to strengthen closer relations and promote better understanding for the future generations.
3.8 Promoting ASEAN and Korean Studies:
3.8.1 The ROK will make efforts to promote Korean studies including language education by expanding Korean research programmes in ASEAN universities, holding training programmes by Korean language experts in ASEAN Member States and supporting the development of Korean language teaching materials;
3.8.2 The ROK will make efforts to provide necessary support for ASEAN teachers to study Korean language and fellowship opportunities for ASEAN students majoring in Korean Studies;
3.8.3 The ROK will explore measures for continuously expanding Korean language fellowship programmes to ASEAN diplomats, officials and students in order to help develop their Korean language proficiency;
3.8.4 The ROK will make best efforts to provide necessary support in the establishment, operation, and activities of the centers for Korean Studies in the ASEAN Member States; and
3.8.5 The ROK, to promote mutual understanding between ASEAN and the ROK, will provide scholarship opportunities for the participation of Korean students in the ASEAN Studies Programme launched by the ASEAN University Network (AUN).3.9 Education Cooperation: 3.9.1 Support the establishment of ASEAN-ROK Cyber University;
3.9.2 Continue to carry out workshops, joint research and training, and exchange of fellowships with the ASEAN University Network (AUN) through the existing ASEAN-Korea Academic Exchange Programme;
3.9.3 Continue the provision of scholarships for ASEAN students through the existing International College Student Exchange Programme;
3.9.4 The ROK will support educational programmes in the field of science and technology;
3.9.5 Initiate ICT Education Network in order to promote ICT human resources development; and
3.9.6 The ROK will assist in vocational and technical education by, among others, encouraging the private educational institutions to provide more industrial attachments to young ASEAN technicians to hone their competencies and skills.
3.10 Sports:
3.10.1 Cooperate to develop diverse joint projects that promote ASEAN-ROK sports exchange;
3.10.2 Promote exchange of information of sports medicine and science, technical information, and research related to the development of ASEAN-ROK sports;
3.10.3 Exchange of athletes and sports teams to attend games or joint training camps between ASEAN-ROK sports community;
3.10.4 Exchange of coaches, officials, referees, researchers and other sports experts; and3.10.5 Exchange of knowledge of construction, operation and management of sports venues/facilities.
3.11 Cooperation on Social Welfare and Development:
3.11.1 Strengthen the capacity of ASEAN in establishing the social security systems;
3.11.2 Continue to implement joint activities addressing public health, the welfare of children, women, elderly and people with disabilities;
3.11.3 Support the strengthening of entrepreneurship skills for women, youth and persons with disability; and
3.11.4 Cooperate to support the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers and ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children (ACWC).
3.12 Environment:
3.12.1 Encourage the ROK to share its practices gained from its “Low-Carbon Green Growth” which introduced environment-friendly technology and undertake cooperative projects and studies to deal with climate change. Promote cooperation in exchange programmes related to reducing green house gas emissions on the basis of training, education, and public awareness on climate change mitigation;
3.12.2 The ROK will provide short-term training programmes and offer master and doctorate degree courses to ASEAN students in order to help develop their capacities in the field of environment;
3.12.3 The ROK will increase training programmes, including capacity building with ASEAN based on the agreed eleven priority areas of environmental cooperation, as in section D of the ASCC Blueprint;
3.12.4 Cooperate closely on capacity building and transfer of technology, through training courses and exchange visits, in water resources management to ensure sustainable usage and access to clean water;
3.12.5 Cooperate in preventing forest degradation through the sharing of related policies, information and experiences, especially in the areas of tropical forest rehabilitation, forest fire prevention and control and landslide prevention; contribute to improving income growth and the living standard of local communities through sustainable forest management; and explore the possibility of establishing a regional mechanism for forestry cooperation;
3.12.6 Cooperate in preventing coastal and marine pollution through exchange of experts, sharing related policies, data and information;
3.12.7 Promote the development and transfer of clean technology;
3.12.8 Share the ROK’s expertise on sustainable management and conservation of biodiversity, including through green technology, with ASEAN and in particular with the ASEAN Centre for Biodiversity (ACB); and
3.12.9 Strengthen cooperation in the context of the United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC), especially on Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries (REDD) including through clean development mechanism, sustainable forest management, wasteland restoration, and peatland management.
3.13 Health:
3.13.1 Cooperate in establishing effective monitoring and surveillance systems for newly emerging infectious diseases (EID), including zoonotic diseases in the region and actively participate in prevention efforts through regular workshops, joint researches expert exchanges, and training activities, including the promotion of a common guiding principle on health screening at ports of entry;
3.13.2 Strengthen monitoring and actively participate in establishing a cooperative network system for ASEAN Plus Three EID monitoring and information sharing;
3.13.3 Continue to support the implementation of Home Based Care for Older People aiming to expand and replicate the pilot model to other areas and to strengthen the development of delivery system and policy of home based care at national and regional level;
3.13.4 Mutually recognise the seriousness of the regional situation of HIV and AIDS and cooperate in the prevention of such diseases, exchange related information to provide effective joint measures against the spread of HIV/AIDS, and cooperate to develop joint policies and programmes for combating HIV and AIDS;
3.13.5 The ROK will provide technical assistance to ASEAN for establishing and improving local hospitals, especially in underdeveloped areas to improve hospital facilities and the overall medical environment of CLMV countries;
3.13.6 Strengthen collaboration in cancer and infectious disease research activities, which the ROK is both active and strong in, including networking research centres among ASEAN and the ROK;
3.13.7 Cooperate closely in the stockpiling of antiviral, other essential medicines and Personal Protective Equipment (PPE) to respond effectively to pandemic outbreaks;
3.13.8 Cooperate in maximising the benefits and minimising the risks of Traditional and Complementary and Alternative Medicine (TM/CAM) under the ASEAN Plus Three Framework of Cooperation on Integration of Traditional Medicine/ Complementary and Alternative Medicine into National Healthcare Systems;
3.13.9 Cooperate closely in promoting community-based support for people affected by chronic diseases; and
3.13.10 Support the transfer of technology and exchange of knowledge between ASEAN and the ROK on health promotion.
3.14 Cooperation in Disaster Management:
3.14.1 Support the implementation of the ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (AADMER) and expand scientific and technological cooperation and information exchange to support the establishment of an ASEAN early-warning system to reduce the risks of natural disasters;
3.14.2 Enhance joint effective and timely response to assist the affected countries in the event of major natural disasters;
3.14.3 Exchange of expertise and experience in enhancing capacities on disaster management and response;
3.14.4 Strengthen community-based preparedness and participation through promotion of indigenous knowledge and practices; public awareness, education; and sharing of best practices and lessons learned to build disaster resilient community;
3.14.5 Jointly develop and implement various cooperative projects, including training programmes, workshops in strengthening disaster management and emergency response skills of disaster responders and enhancing public awareness and preparedness on disaster prevention and mitigation in order to minimise human and material losses in the region; and
3.14.6 Exchange best practices and information on urban search and rescue and promote linkages and exchange of visits.
3.15 Cooperation in Strengthening Civil Service Matters
3.15.1 Promote and strengthen cooperation in Civil Service matters through the ASEAN Conference on Civil Service Matters with the ROK (ACCSM+ROK) and ACCSM Plus Three Mechanisms; and
3.15.2 To study possible areas of cooperation which the ACCSM could undertake with the ROK and the Plus Three in the future.
4. Cooperation in Regional and International Fora
4.1 Acknowledging the necessity for revitalising the UN system, ASEAN and the ROK will closely cooperate to contribute to the UN reform to better reflect every member country’s interests under the principles of democracy, representation and effectiveness;
4.2 Extend support to Lao PDR that has yet to join the World Trade Organisation (WTO), and cooperate for her early accession to the WTO; and
4.3 Strengthen collaboration and policy consultation between ASEAN and the ROK in major multilateral fora including the WTO, ARF, Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC), the G-20, Asia Europe Meeting (ASEM), and Forum for East Asia Latin America Cooperation (FEALAC).
5. Fostering East Asia Cooperation
5.1 Strengthen East Asia cooperation by implementing the APT Cooperation Work Plan and by promoting and strengthening functional cooperation in the various agreed sectors within the ASEAN Plus Three framework;
5.2 Utilise the APT Summit and East Asia Summit to promote dialogue cooperation and community building in the region;
5.3 Encourage active participation and involvement of the business community, academia and all sectors of society in promoting and strengthening East Asian cooperation;
5.3.1 Promote East Asian studies and encourage greater participation from experts and scholars not only from the government, but also from other areas such as the private sector, the academia and non-government organisations (NGOs);
5.3.2 Cooperate in promoting the interest and addressing the challenges facing the APT countries through mechanisms such as the East Asia Forum (EAF), Network of East Asia Think-tanks (NEAT) and other related meetings; and
5.3.3 Explore the better utilisation of existing mechanisms such as the EAF, the NEAT, the Network of East Asian Studies (NEAS) and other initiatives to avoid overlapping in efforts in implementing the APT Cooperation Work Plan and enhancing East Asia cooperation.
5.4 Promote East Asian identity by strengthening cooperation in the social and cultural fields to elevate the cooperation to the same level as political and economic cooperation. Towards this end, ASEAN and ROK could consider initiatives such as the designation of an East Asia Week to increase awareness and understanding of East Asian identity and society.
6. Development Cooperation
6.1 Basic Framework for Development Cooperation:
6.1.1 ASEAN-ROK Special Cooperation Fund
6.1.1.1 The ROK will continue to support the ASEAN-ROK Special Cooperation Fund (SCF) to promote the exchange of experts and information and the establishment of cooperative projects in various areas, including the environment, forestry, agriculture, fisheries, health, culture, education, economics and human resources development;
6.1.1.2 Further expand cooperative projects into the fields of arts, tourism, ICT, and science and technology to forge mutual understanding between the peoples of ASEAN and the ROK;
6.1.1.3 Closely cooperate in the ASEAN-ROK Joint Planning and Review Committee to enhance the effectiveness and ensure the transparent operation of the ASEAN-ROK funds; and
6.1.1.4 The ROK will continue its efforts to increase its contribution to the ASEAN-ROK SCF to assist in further expanding cooperative projects.
6.1.2 The ROK will contribute to the economic and social development of ASEAN Member States by strengthening bilateral consultation and coordination.
6.1.2.1 The ROK will cooperate with ASEAN Member States to examine the possibility of providing technical support for the development of human resources for the least developed countries (LDC) of ASEAN.
6.1.3 Promoting the Development Cooperation Network:
6.1.3.1 To promote the efficiency and coherence of development cooperation policies towards ASEAN, the ROK will strengthen networks among its government-related agencies and examine the possibility of establishing a channel for regular dialogue;
6.1.3.2 Explore, for better coordination of development cooperation activities and projects, a channel for regular dialogue, if necessary with the participation of the ASEAN Secretariat, among the development cooperation agencies of ASEAN and the ROK; and
6.1.3.3 Strengthen networking between the ASEAN Secretariat and the ROK to further enhance the capacity building of the ASEAN Secretariat.
6.2 Mekong sub-region:
6.2.1 The ROK will examine the possibility of providing technical and technological support to the countries in the Mekong sub-region in collaboration with international organisations such as the Mekong River Commission, the World Bank, and the ADB for the development of the Mekong River Basin region in accordance with the local requirements.
6.3 Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS):
6.3.1 The ROK will examine the possibility of participating in ACMECS projects, particularly in the fields of ICT, transportation, infrastructure, agriculture, environment and human resources development, and consult with ACMECS countries on the modalities for its participation.
6.4 Cambodia – Laos – Viet Nam (CLV) Development Triangle:
6.4.1 The ROK will study the CLV Development Triangle and explore the possibility to provide relevant assistance in enhancing ASEAN’s integration efforts.
6.5 Brunei Darussalam Indonesia Malaysia the Philippines-East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA):
6.5.1 The ROK will cooperate with the BIMP-EAGA countries to promote human resources development and capacity building in the following areas: agriculture, fisheries, tourism, transportation, environment, ICT, the small and medium enterprises;
6.5.2 The ROK will explore the possibility of dispatching experts to the BIMP-EAGA countries to examine and study prospective areas for cooperation. BIMP-EAGA countries will provide information on relevant projects to the ROK;
6.5.3 Encourage resource development through direct investment, project contracting and technology sharing;
6.5.4 Explore the possibility of establishing dialogue channel between the BIMP-EAGA countries and the ROK, as well as between relevant private sector organisations, in order to synergise links and expand mutual trade and investment; and
6.5.5 Explore opportunities for possible technical and capital assistance for BIMP-EAGA programmes and projects.
6.6 Fostering Grass-Root Economies:
6.6.1 The ROK will support training programmes aimed at sharing information on its agricultural policy and rural development experiences such as the "Saemaul Campaign”, advanced technologies for rice cultivation and development of water resources for agriculture, and livestock technologies to support the development of rural areas and agriculture infrastructures including the development of irrigation system in ASEAN Member States particularly in CLMV; and
6.6.2 Upon the request of each ASEAN Member States, the ROK will progressively increase dispatch of overseas volunteer teams which are currently working to support income growth in rural areas through small size project developments, mainly in ASEAN rural areas and small towns.
6.7 Initiative for ASEAN Integration (IAI):
6.7.1 The ROK will contribute to narrowing the development gap in ASEAN and deepening integration through the prompt completion of the IAI projects in which it is participating; and
6.7.2 The ROK will contribute its third tranche of USD five million for the years 2013-2017, and will examine the possibility of making an additional contribution in the future.Funding and Implementation
1. The actions, initiatives and activities outlined in this Plan of Action will be implemented using available resources, such as the ASEAN-ROK SCF, the ASEAN-ROK FOCP, ASEAN-ROK Economic Cooperation Fund, project funding from the Korea International Cooperation Agency (KOICA) and other sources. ASEAN and the ROK will extend financial support to the implementation of the measures in this Plan of Action based on their respective capacities.
2. The ROK has increased its contribution to the ASEAN-ROK Special Cooperation Fund and ASEAN-ROK Future Oriented Cooperation Project Fund by US$ 2,000,000.00 in total beginning the fiscal year of 2010 to support the effective implementation of various actions and measures proposed in this Plan.
3. ASEAN and the ROK, with the assistance of their respective line agencies and the ASEAN Secretariat, will formulate a detailed implementation plan to prioritise the implementation of this Plan of Action. The ROK will provide the ASEAN Secretariat with necessary technical assistance and support for the coordination and implementation of this Plan of Action.
4. ASEAN and the ROK will monitor the progress of the implementation of this Plan of Action through existing mechanisms within the dialogue framework such as the ASEAN-ROK Foreign Ministers’ Meeting, the ASEAN-ROK Dialogue and the ASEAN-ROK Joint Planning and Review Committee (JPRC) and report regularly on the progress of the implementation at the ASEAN-ROK Summits.
5. At appropriate intervals of the implementation of this Plan of Action, ASEAN and the ROK will conduct comprehensive reviews to ensure the effectiveness and timely execution of the measures and actions in the Plan of Action.
6. Both sides may make revisions to this Plan of Action, as and when necessary based on mutual consultation and consent, given the dynamic developments in the ASEAN-ROK dialogue partnership as well as the region.